posttoday

Elephant Chart สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

17 กรกฎาคม 2560

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ | [email protected] |เราเคยเชื่อว่ากระแสโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิชาการและนักนโยบายหลายคนเชื่อว่ากระแสของโลกนี้แม้จะมีผลเสียในเชิงสังคมบ้าง แต่โดยรวมก็นับว่ามีผลดีคุณประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กระแสโลกาภิวัตน์นี้สร้างสถานการณ์วิน-วิน จริงหรือ?

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ | [email protected] |

เราเคยเชื่อว่ากระแสโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิชาการและนักนโยบายหลายคนเชื่อว่ากระแสของโลกนี้แม้จะมีผลเสียในเชิงสังคมบ้าง แต่โดยรวมก็นับว่ามีผลดีคุณประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กระแสโลกาภิวัตน์นี้สร้างสถานการณ์วิน-วิน จริงหรือ?

ดร.บรองโก มิลาโนวิค นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความเลื่อมล้ำและกระแสโลกาภิวัตน์ได้นำเสนอผลการศึกษาที่ทำให้ ผู้กำหนดนโยบายของทุกประเทศหันมาจับตามองผลกระทบของโลกาภิวัตน์ นี้ และทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า...

ทำไมทรัมป์จึงได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วยนโยบาย America First ทำไมสหรัฐจึงถอนตัวจากการร่วมมือทางการค้าและสนธิสัญญาต่างๆ ทำไมชาวสหราชอาณาจักรจึงโหวตให้กับ BREXIT และทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วจึงเริ่มหันมาเลือกพรรคการเมืองที่เสนอแนวนโยบายประชานิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และประกาศดึงฐานการผลิตกลับมาสู่ประเทศถิ่นเกิด

ดร.บรองโก มิลาโนวิค ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของอัตราการเติบโตของรายได้ประชากรระหว่างปี พ.ศ. 2531-2551 กับเปอร์เซ็นไทล์การกระจายรายได้ของประชากรในโลก ว่าง่ายๆ คือ ศึกษาข้อมูลการเติบโตรายได้ของคนจน คนรายได้ปานกลาง และคนรวยในประเทศจนหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ไปจนถึงคนชนชั้นปานกลางและคนรวยในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ผลการศึกษานำเสนอออกมาเป็นกราฟความสัมพันธ์ที่มีรูปร่างเหมือนช้างหันหน้าไปทางขวา จึงเป็นกราฟที่ได้รับขนานนามว่าเป็น "กราฟช้าง" หรือ Elephant Chart ที่โด่งดังที่สุดในยุคนี้ ความหมายของกราฟนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างมาก เหมือนจะเป็นนาฬิกาปลุกขนาดใหญ่ให้กับชาติมหาอำนาจเลยทีเดียว

กลุ่ม A แสดงถึงกลุ่มคนจนในประเทศกำลังพัฒนา จะเห็นว่าแม้เวลาผ่านไป 20 ปี คนกลุ่มนี้ก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ และมีแนวโน้มว่าจะจนแบบนี้ไปเรื่อยๆ

กลุ่ม B คือกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์มากที่สุด ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มคนที่เคยถูกจัดว่ามีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางใน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่น จีน อินเดีย เกาหลี และอาเซียน ที่โลกาภิวัตน์นำมาซึ่งโอกาสด้านอาชีพและการศึกษา ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และกลุ่มคนที่รวยอยู่แล้วในประเทศเหล่านี้ก็ยิ่งรวยขึ้นไปอีก

ในขณะที่กลุ่ม C ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มรายได้ปานกลางในประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับมีรายได้น้อยลงกว่าอดีต และตกต่ำอย่างน่าใจหาย แต่กลุ่มคนรวยในประเทศรวยหรือ D กลับมีรายได้สูงขึ้นอย่างมหาศาล

จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนกลุ่มรายได้ปานกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้จะเกิดความหวาดกลัวและบางครั้งกลายเป็นต่อต้าน กระแสโลกาภิวัตน์ ต่อต้านการค้าระหว่างประเทศและการค้าเสรี จนถึงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วยซ้ำไป