สกู๊ตรุกหลังซิวไทเกอร์
จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์สมรภูมิสายการบินแข่งขันกันรุนแรง ทุกสายการบินต่างมุ่งสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ระดับภูมิภาค ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่จะไปสู่เป้าหมายได้เร็วคือควบรวมกิจการ เช่น สายการบินสกู๊ตที่ไปควบรวมไทเกอร์แอร์เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่ผ่านมา
จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
สมรภูมิสายการบินแข่งขันกันรุนแรง ทุกสายการบินต่างมุ่งสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ระดับภูมิภาค ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่จะไปสู่เป้าหมายได้เร็วคือควบรวมกิจการ เช่น สายการบินสกู๊ตที่ไปควบรวมไทเกอร์แอร์เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่ผ่านมา
ลีลิกซิน ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารสายการบินสกู๊ต เปิดเผยว่า สกู๊ตเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ที่มีเส้นทางบินระยะทางปานกลาง ส่วนไทเกอร์แอร์บินเชื่อมระยะสั้นจุดต่อจุด หลังควบรวมตั้งแต่เดือน พ.ค. 2559 ก็ช่วย เพิ่มโอกาสการขายที่นั่งจากการใช้บริการบินเชื่อมจากเส้นทางของสายการบินหนึ่งกับอีกสายการบิน แต่การจองตั๋วจาก 2 สายการบิน ยังเกิดประสบการณ์แตกต่างกัน จึงเปลี่ยนแบรนด์ไทเกอร์แอร์ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตเดียวคือ สกู๊ตทั้งหมด
ผลดังกล่าวทำให้มี 60 เส้นทาง ใน 17 ประเทศ พร้อมปรับเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นจองเหลือเพียงสกู๊ต เสร็จสมบูรณ์วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา และกำลังปรับโฉมเครื่องแบบลูกเรือใหม่ให้ดูสดใสตามเอกลักษณ์สกู๊ต เปลี่ยนลวดลายเครื่องบินไทเกอร์แอร์เป็นสกู๊ต เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสประสบ การณ์จองหนึ่งเดียว ภายใต้แนวคิดหลีกหนีจากความธรรมดา ซึ่งการเปลี่ยนโฉมเหล่านี้จะเสร็จกลางปีหน้า
โฮยวนซัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สายการบินสกู๊ต กล่าวว่า ปีงบการเงินเดือน เม.ย. 2560-มี.ค. 2561 ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม 15% จากเดือน เม.ย. 2559-เม.ย. 2560 ที่มี ผู้โดยสาร 8 ล้านคน โดยหลังควบรวมตั้งเป้าขยายฝูงบินเป็น 2 เท่า ใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีเครื่องบิน 37 ลำ อยู่ระหว่างสั่งซื้อ 45 ลำ
นอกจากนี้ เตรียมขยายเส้นทางบิน 5 เส้นทาง ได้แก่ สิงคโปร์-โฮโนลูลู รัฐฮาวาย (ต่อเครื่องบินที่โอซากา ญี่ปุ่น) สิงคโปร์-ฮาร์บิน จีน เปิดในสิ้นปีนี้ สิงคโปร์-กูชิง มาเลเซีย คาดเปิดเดือน ต.ค. สิงคโปร์-ปาเล็มบัง อินโดนีเซีย คาดเปิดเดือน พ.ย.นี้ และสิงคโปร์-กวนตัน มาเลเซีย เปิดต้นปีหน้า ส่วนเส้นทางมาไทยก็พร้อมหาโอกาสทั้งเพิ่มความถี่เส้นทางบินเดิมที่ให้บริการอยู่แล้วและเปิดเส้นทางบินใหม่ เนื่องจากไทยเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย
"การมีเครือข่ายเส้นทางบินเพิ่มช่วยเพิ่มโอกาสขาย ทำให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น เช่น เปิดบินระยะไกลไปโฮโนลูลู ก็ไม่ได้มองว่า มีแค่คนบินจากสิงคโปร์ต่อเครื่องที่ โอซากาไป แต่มองผู้โดยสารเส้นทางอื่นในเครือข่ายที่บินไปโอซากา เพื่อต่อไปโฮโนลูลูด้วย เช่น กรุงเทพฯ- โอซากาของนกสกู๊ต หรือไทเป- โอซาก้า เป็นต้น" โฮยวนซัง กล่าว
นี่คือการขยับที่ 1 +1 ได้มาก กว่า 2 ซึ่งคู่แข่งคงต้องรับศึกหนัก ขึ้นแน่