น้ำตาลครบุรี หวั่นบาทแข็งฉุดรายได้
ราคาน้ำตาลเริ่มถอยกลับไปที่ 0.13 เซนต์/ปอนด์ จากที่เคยขึ้นไปถึง 0.2 เซนต์ และเริ่มเห็นทิศทางว่าปริมาณน้ำตาลจะล้นตลาด
โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง
ราคาน้ำตาลเริ่มถอยกลับไปที่ 0.13 เซนต์/ปอนด์ จากที่เคยขึ้นไปถึง 0.2 เซนต์ และเริ่มเห็นทิศทางว่าปริมาณน้ำตาลจะล้นตลาด อย่างไรก็ตามปัจจัยเดียวที่น้ำตาลครบุรีกังวล คือ ค่าเงินบาทหากแข็งค่าอาจฉุดรายได้วันส่งมอบ เพราะกำหนดราคาขายไว้ตั้งแต่ต้นที่ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เทียบค่าเงินบาทปัจจุบันที่แข็งค่าทดสอบระดับ 33.30 บาท
“ทัศน์ วนากรกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี (KBS) กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่มีผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากได้กำหนดราคาน้ำตาลเฉลี่ยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดที่ 0.2036 เซนต์/ปอนด์ ไปแล้ว ในโควตาประเภท ข. และบริษัทมีสินค้าพรีเมียมจากน้ำตาลขาวเมื่อบวกกับราคาพรีเมียมแล้ว ทำให้ราคาขายอยู่ที่ 0.24 เซนต์/ปอนด์ ได้ และดีกว่าปีที่ผ่านมา
ด้านผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลจะออกมาดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งเมื่อราคาขายดี แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นต้นทุนในการผลิตน้ำตาลเพราะราคารับซื้อก็มากขึ้นด้วย แต่โดยรวมถือว่าปี 2560 ยังดีอยู่ เพราะแม้สภาพเศรษฐกิจจะไม่ดีแต่ราคาน้ำตาลมีบางช่วงที่ดีขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 2560 ที่เจอทั้งปัจจัยลบทั้งสองข้างที่ราคาน้ำตาลทรายก็ไม่ดีและเศรษฐกิจก็ไม่ดีด้วย ซึ่งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกก็น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
สิ่งที่เป็นห่วงในปัจจุบันเหลือเพียงปัจจัยเดียว คือ การส่งมอบสินค้า เพราะปกติจะมีการกำหนดราคาที่เป็นค่าเงินบาทที่ต้องแปลงเป็นดอลลาร์เมื่อวันส่งมอบ ซึ่งช่วงอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม 34-35 บาท/ดอลลาร์ โดยราคาที่ระบุขายไปแล้วคือราคาน้ำตาลที่ 0.19 ออนซ์/ดอลลาร์ เทียบกับค่าเงินดอลลาร์อยู่ที่ 34 บาท ซึ่งถ้าค่าเงินบาทแข็งไปที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ ก็เป็นระดับที่ชาวไร่จะได้รับผลกระทบคือการรับรู้รายได้ที่ลดลง
ทัศน์ วนากรกุล
เงินบาทแข็งค่าทดสอบระดับ 33.30 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2558 (ประมาณ 2 ปี 3 เดือน) โดยการแข็งค่าของเงินบาทเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐสะท้อนว่ายังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณเตรียมปรับลดงบดุลในระยะใกล้นี้
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์อีกด้วย ล่าสุดในวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ค. เงินบาทอยู่ที่ 33.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับ 33.67 บาท/ดอลลาร์ ในวันศุกร์ที่ 21 ก.ค. 2560 สำหรับสัปดาห์ถัดไปธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.20-33.60 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ปีนี้บริษัทจะมีการรับรู้จากรายได้ขายไฟฟ้าที่มีกว่า 22 เมกะวัตต์ และเป็นการรับรู้รายได้แบบเต็มปี ขณะเดียวกันการที่มีผลผลิตอ้อยมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อทำให้นำผลผลิตกากอ้อยไปใช้ในโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ไฟฟ้าคิดเป็น 30% ของสัดส่วนรายได้โดยรวมทั้งหมด
ทั้งนี้ มองว่าปีนี้รายได้จากขายน้ำตาลจะอยู่ที่มากกว่า 5,200 ล้านบาท และรายได้จากไฟฟ้าอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2559 ที่ KBS มีรายได้ 7,161 ล้านบาท และไตรมาสแรกทำได้ 2,312 ล้านบาท ส่วนปีที่ผ่านมาขาดทุน 355 ล้านบาท และไตรมาสแรกที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 215 ล้านบาท
ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำตาลปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 2.6 ล้านตัน แต่ไม่มีผลกระทบกับส่วนของกำไร เนื่องจากทำให้ได้ค่าความหวานที่มากขึ้น และราคาขายน้ำตาลก็สูงกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับการที่ภาครัฐจะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลอย่างเสรีเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกอย่างจะได้เป็นไปตามกลไกราคาที่แท้จริงของตลาดโลก
อีกทั้งในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกถึง 70% และเป็นการผลิตโดยใช้ราคาในประเทศ 30% เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงจากที่ราคาน้ำตาลโลกมีการผันผวน เพราะหากอัตราคงที่ราคาน้ำตาลไว้ที่ระดับหนึ่ง แต่หากช่วงนั้นราคาน้ำตาลผันผวนก็จะส่งผลให้เกิดการระบุราคาที่ผันแปรไปกับราคาที่แท้จริงและทำให้ผู้ประกอบการอยู่ในราคาที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น เพราะถ้าต้นทุนน้ำตาลแพงก็จะส่งผลกับผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกอาหารในประเทศที่ต้องมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นเช่นกัน
ความต้องการใช้น้ำตาลทั่วโลกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2561 มองแล้วว่าราคาอ้อยน่าจะลดลงมาจากราคาปัจจัยที่ผลผลิตอ้อยออกมาดีทั่วโลก เพราะปัจจุบันผลผลิตมีการฟื้นตัวดีโดยเฉพาะในบราซิล