Co-working space กับมุมมองทางเศรษฐศาสตร์
ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th; ttonganupong@gmail.comปัจจุบัน 40% ของกำลังแรงงาน เป็น "คน" เจเนอเรชั่น Y และ Z ซึ่งคือกลุ่มคนวัยแรงงานที่เกิดใน พ.ศ. 2523 เป็นต้นไป คนทั้งสองเจเนอเรชั่นนี้เกิดมาท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า และมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ทำให้คนกลุ่มนี้มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ได้เร็ว มีความเป็นตัวเองสูง เน้นการทำงานที่ตนเองพึงพอใจ ไม่ชอบเงื่อนไขยุ่งยาก ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องการบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลายเป็นกันเอง เอื้อต่อการให้อิสระในการทำงาน โดยสถานที่ทำงานสมัยใหม่จะประกอบไปด้วย
ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th; ttonganupong@gmail.com
ปัจจุบัน 40% ของกำลังแรงงาน เป็น "คน" เจเนอเรชั่น Y และ Z ซึ่งคือกลุ่มคนวัยแรงงานที่เกิดใน พ.ศ. 2523 เป็นต้นไป คนทั้งสองเจเนอเรชั่นนี้เกิดมาท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า และมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ทำให้คนกลุ่มนี้มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ได้เร็ว มีความเป็นตัวเองสูง เน้นการทำงานที่ตนเองพึงพอใจ ไม่ชอบเงื่อนไขยุ่งยาก ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องการบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลายเป็นกันเอง เอื้อต่อการให้อิสระในการทำงาน โดยสถานที่ทำงานสมัยใหม่จะประกอบไปด้วย
1) พื้นที่ส่วนทำงาน
2) พื้นที่ส่วนรวมไว้พักผ่อนหรือทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เช่น พื้นที่สีเขียว โต๊ะปิงปอง หรือห้องคาราโอเกะ และ
3) พื้นที่ส่วนตัว เช่น ห้องส่วนตัวสำหรับคุยโทรศัพท์!!! ซึ่งบรรยากาศในการทำงานที่ดีจะเป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือเพิ่ม "ผลิตภาพ" ของคนกลุ่มนี้ และตราบใดที่ต้นทุนส่วนเพิ่มในการสร้างบรรยากาศที่ดียังคงน้อยกว่าประโยชน์ส่วนเพิ่มที่นายจ้างจะได้รับ นายจ้างจะยินดีสร้างบรรยากาศการทำงานเช่นนี้เพื่อหวังกำไรที่สูงขึ้นนั่นเอง
ลักษณะที่สำคัญอีกประการของคนทั้งสองเจเนอเรชั่น คือ ชอบความท้าทายและชอบการทำงานที่สามารถเห็นเป้าหมายได้อย่างชัดเจน นั่นคือต้องเห็นว่าเมื่อตนได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจทำงานแล้วจะได้ผลตอบแทนอะไร ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องการเป็นนายของตนเอง เป็นเจ้าของกิจการ และทำธุรกิจประเภทที่เรียกว่า "Startup" หรือทำงานในลักษณะ "Freelance" ซึ่งไม่ต้องการการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานด้วยเงินเป็นจำนวนมาก
ตัวเลือกหนึ่งในเรื่อง "สถานที่ทำงาน" ของคนกลุ่มนี้ คือ การทำงานใน Co-working space โดยธุรกิจ Co-working space เกิดขึ้นครั้งแรกที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2548 และเริ่มมีธุรกิจนี้ที่เมืองไทยเมื่อคนจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานชั่วคราวในช่วงเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ใน ปี 2554
ทั้งนี้ เหตุผลที่คนกลุ่มนี้ไม่ใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่ทำงานหรือติดต่องาน ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปเนื่องจาก
1) ความไม่สะดวก (เช่น เกรงใจเจ้าของร้านหากต้องใช้สถานที่เป็น เวลานาน)
2) การขาดอุปกรณ์สำนักงาน บางอย่าง อาทิ พรินเตอร์
3) ความรู้สึกว่า การติดต่องานในร้านกาแฟอาจทำให้ลูกค้าเห็นว่าขาดความเป็นมืออาชีพ นอกจากนี้ การทำงานใน Co-working space ทำให้เลี่ยงปัญหาการทำงานอย่างโดดเดี่ยวที่บ้าน หรือการถูกรบกวนจากสิ่งเร้าในบ้าน (เช่น อยากนอน) รวมทั้งการสามารถเลือกสถานที่ทำงานได้หลากหลายที่อาจสร้างแรงบันดาลใจหรือไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานให้กับตนเองได้
ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ Co-working space นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ Sharing economy หรือ Gig economy ซึ่งคือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่มีสำนักงานได้มานั่งทำงานกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวร่วมกัน มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในการทำงานด้วยกัน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ อินเทอร์เน็ต ห้องประชุม อุปกรณ์สำนักงาน ซึ่งช่วยให้ประหยัด งบประมาณ
นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารและการหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตช่วยให้การจับคู่กันระหว่างอุปสงค์และอุปทานของ Co-working space ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนในการค้นหา (Search cost) มากนัก แม้บริการ Co-working space จะมีรายละเอียดในเรื่องต่างๆ มากมายก็ตาม
อาทิ ทำเลที่ตั้ง รูปแบบการใช้งาน (ห้องเล็ก ห้องใหญ่ ฯลฯ) รูปแบบการเช่า (รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ฯลฯ) นอกจากนี้ ธุรกิจ Co-working space ยังช่วยให้การใช้ทรัพยากรที่ว่างอยู่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สิ่งสำคัญที่ทำให้ Co-working space ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน คือผลกระทบภายนอกที่เป็นบวก (Positive externality) ของ Co-working space... แล้วผลกระทบภายนอกนี้คืออะไร?...
การที่มีคนหลากหลายมาทำงานในสถานที่เดียวกัน ทำให้เกิดการพบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน เกิดการสร้างเพื่อนใหม่ มีเครือข่ายในการทำงาน และอาจนำไปสู่การได้เพื่อนร่วมงานใหม่ หรือการลงทุนร่วมกัน (อย่าลืมว่าคนเจเนอเรชั่น Y และ Z เน้นการทำงานที่ตนพึงพอใจและชอบความท้าทายนะคะ การตัดสินใจร่วมงาน หรือร่วมลงทุนกับคนที่เพิ่งรู้จักจึงเป็นเรื่อง ที่ไม่เกินจริงค่ะ)
ตัวอย่างของผลกระทบภายนอก ที่เป็นบวก ได้แก่ การให้สัมภาษณ์ของ ผู้ประกอบการประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์ ซึ่งดำเนินงานในลักษณะ Startup ใน Co-working space ที่ได้กล่าวว่า "การทำงานร่วมกันใน Co-working space เดียวกันจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการทำงาน
เนื่องจากแต่ละทีมจะมีความแตกต่างในเรื่องของรูปแบบธุรกิจ และมีข้อมูลและความรู้ในด้านนั้นๆ หรือมีเทคนิคเฉพาะด้าน สามารถให้คำปรึกษากันได้ทันที รวมถึงแบ่งปันไอเดียในแนวคิดต่างๆ นำมาปรับใช้กับบริการของตนเอง" (Digital Age Magazine 2560)
รัฐบาลของหลายประเทศได้เล็งเห็นประโยชน์ข้อนี้ และมีการสนับสนุนส่งเสริมการทำงานใน Co-working space ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือสินค้าหรือบริการอะไรที่มีผลกระทบภายนอกเป็นบวก หากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพียงอย่างเดียวแล้ว จะทำให้มีปริมาณในดุลยภาพที่น้อยเกินไป
ตัวอย่างที่น่าสนใจของ Co- working space ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้แก่ Bash (Build Amazing Start-ups Here) ซึ่งคือ Co- working space ที่อำนวยความสะดวกให้ทีม Startup ต่างๆ มาทำงานและสร้างเครือข่าย ซึ่ง Bash ก่อตั้งและบริหารโดย SGInnovate ที่เป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมนวัตกรรมของรัฐบาลสิงโปร์ ก่อตั้งขึ้นปลายปี 2559 โดยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเรื่องพื้นที่ทำงาน ให้คำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่วยหาแหล่งเงินทุน
ตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันในประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative and Design Center : TCDC) ที่ให้บริการ Co-working space สำหรับนักออกแบบ โดยมีทั้งบริการห้องสมุด อาร์ตแกลเลอรี่ และผู้ให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ในพื้นที่เดียวกันนี้ด้วย
รัฐบาลไทยซึ่งมีเป้าหมายต้องการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Ecosystem เพื่อเอื้อต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยรัฐบาลควรเลือกทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม พร้อมด้วยการเรียนรู้ร่วมกัน มากกว่าทำหน้าที่กำกับดูแล บางหน่วยงานต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทด้วย
การทำงานเชิงรุก โดยการเลือกเดินเข้าไปหาเพื่อรับฟังปัญหาและให้ คำปรึกษา หรือนำปัญหานั้นมาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ แทนการทำงานแบบเดิมที่รอปัญหา และไม่มีการปรับกฎระเบียบให้ทันกับยุคสมัย การดำเนินการของรัฐบาลในรูปแบบใหม่นี้ จะ ส่งผลให้การเข้าไปมีส่วนร่วมจากหน่วยงานของรัฐให้ประโยชน์ทางบวกทั้งกับกลุ่ม Startup หรือ Freelance และ เจ้าหน้าที่ของรัฐเอง เนื่องจากทำให้เกิดการพัฒนา "คน" ทั้งสองกลุ่มนี้ไปพร้อมๆ กัน n
เอกสารอ้างอิง :
Digital Age Magazine. 2560. "บริษัทในฝันหรืออาชีพที่ขาดแคลนในดิจิทัล" เมษายน 2560.