posttoday

ของหลุดจำนำ ยังไถ่คืนได้มั้ย

02 สิงหาคม 2560

โรงรับจำนำถือเป็นที่พึ่งสำหรับคนที่ต้องการเงินด่วน โดยวิธียอมนำทรัพย์สินมีค่าที่มีไปแลกเปลี่ยนมาเป็นเงิน จำนำไว้กับโรงรับจำนำเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อยหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปไถ่คืนทรัพย์สินที่จำนำไว้กลับมา ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดดอกเบี้ยสำหรับโรงรับจำนำอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน สำหรับเงินต้นที่เกิน 2,000 บาท และร้อยละ 2 ต่อเดือน กรณีเงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท

โรงรับจำนำถือเป็นที่พึ่งสำหรับคนที่ต้องการเงินด่วน โดยวิธียอมนำทรัพย์สินมีค่าที่มีไปแลกเปลี่ยนมาเป็นเงิน จำนำไว้กับโรงรับจำนำเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อยหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปไถ่คืนทรัพย์สินที่จำนำไว้กลับมา ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดดอกเบี้ยสำหรับโรงรับจำนำอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน สำหรับเงินต้นที่เกิน 2,000 บาท และร้อยละ 2 ต่อเดือน กรณีเงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท

มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการโรงรับจำนำมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยผู้ร้องได้นำ สร้อยคอทองคำไปจำนำ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว โดยมีการตกลงวันชำระดอกเบี้ยที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หลังจากชำระดอกเบี้ยไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องขาดส่งติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน

ภายหลังทางโรงรับจำนำก็ได้แจ้งมาว่าให้นำเงินมาไถ่ เพราะสร้อยคอ ดังกล่าวกำลังจะหลุดจำนำแล้ว ผู้ร้องจึงได้นำเงินไปไถ่สร้อยคอของเธอ แต่เมื่อไปถึงที่โรงรับจำนำกลับพบว่าไม่สามารถไถ่สร้อยคืนได้แล้ว จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ

แนวทางการแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามข้อมูลผู้ร้องเพิ่มเติมถึงวันและเวลาการขาดส่ง รวมถึงระยะเวลาการกลับไปไถ่สร้อยคอดังกล่าวคืน อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่สามารถจำวันและเวลาที่แน่นอนได้ ศูนย์ฯ จึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ซึ่งกำหนดขั้นตอนของทรัพย์สินที่จะหลุดเป็นของผู้รับจำนำไว้ ดังนี้

มาตรา 25 ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีทรัพย์จำนำที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือน ยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจำนำนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ ถ้าผู้รับจำนำได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามข้างต้นแล้ว ทรัพย์จำนำจะหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนำก็ต่อเมื่อ 1.ทรัพย์นั้นอยู่ในประกาศของโรงรับจำนำ 2.ทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมิได้สั่งอายัดไว้ และ 3.ผู้จำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันประกาศ

ดังนั้น หากผู้ร้องไม่ได้ไปไถ่ทรัพย์สินที่จำนำไว้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทรัพย์นั้นย่อมหลุดเป็นของผู้รับจำนำ ซึ่งมีสิทธินำไปขายต่อได้

ใครที่อยากรู้ข้อมูลดีๆ เรื่องผู้บริโภค สามารถติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" นิตยสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของผู้บริโภค www.ฉลาดซื้อ.com, www.facebook.com/chaladsue และ โทร. 02-248-3737