วางแผนปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับฤดูกาล

02 สิงหาคม 2560

นิตยสารบ้านและสวนสำหรับผู้มองหาบ้านหรืออาคารมือสองเพื่ออยู่อาศัยหรือทำธุรกิจ นอกจากการเลือกทำเลให้ถูกใจแล้ว การปรับปรุงสภาพบ้านหรืออาคารให้สามารถใช้งานได้ดีก็เป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าของมือใหม่หลายคนรู้สึกเป็นกังวลไม่น้อย ด้วยปัญหายิบย่อยมากมายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการทำงาน อาทิ ทำหลังคาในฤดูฝนทำให้งานทุกอย่างเสร็จล่าช้า เคลือบไม้ด้วยแล็กเกอร์แล้วออกมาขุ่น หรือช่างฉาบทำงานช้าเพราะบ่นว่าร้อน เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่พร้อมจะทำให้ระบบการทำงานทั้งหมดรวนกันไปเป็นทอดๆ เพราะขาดการวางแผนเรื่องการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ

นิตยสารบ้านและสวน

สำหรับผู้มองหาบ้านหรืออาคารมือสองเพื่ออยู่อาศัยหรือทำธุรกิจ นอกจากการเลือกทำเลให้ถูกใจแล้ว การปรับปรุงสภาพบ้านหรืออาคารให้สามารถใช้งานได้ดีก็เป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าของมือใหม่หลายคนรู้สึกเป็นกังวลไม่น้อย ด้วยปัญหายิบย่อยมากมายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการทำงาน อาทิ ทำหลังคาในฤดูฝนทำให้งานทุกอย่างเสร็จล่าช้า เคลือบไม้ด้วยแล็กเกอร์แล้วออกมาขุ่น หรือช่างฉาบทำงานช้าเพราะบ่นว่าร้อน เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่พร้อมจะทำให้ระบบการทำงานทั้งหมดรวนกันไปเป็นทอดๆ เพราะขาดการวางแผนเรื่องการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ

ครั้งนี้ "บ้านและสวน" ขอนำเสนอการวางแผนปรับปรุงบ้านแบบฤดูต่อฤดู นอกจากไม่ทำให้เจ้าของบ้านเสียเวลาแล้ว ยังทำให้การทำงานไหลลื่นอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

การปรับปรุงอาคารมักใช้เวลาตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจสภาพอาคาร ออกแบบ ดำเนินการ จนเสร็จสิ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-6 เดือน แล้วแต่ว่าจะปรับปรุงอะไรบ้าง โดยพื้นฐานแล้วแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.งานซ่อมแซม หรือการคงสภาพอาคารเพื่อให้ใช้งานอาคารได้ต่อไป อาจเกิดขึ้นเมื่อวัสดุหมดอายุหรือเกิดความเสียหาย และได้ซ่อมแซมตามแบบเดิมของอาคาร

2.งานปรับปรุง มักเกิดขึ้นเมื่ออาคารมีการใช้งานที่เปลี่ยนไป หรือต้องการปรับเปลี่ยนวัสดุให้ดีกว่าเดิม หรือต้องการเปลี่ยนสไตล์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ตามยุคสมัย

3.งานต่อเติม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ต่อจากอาคารหรือรื้อออกเพื่อใช้ โครงสร้างเดิมในรูปแบบใหม่ก็อาจส่งผล กระทบกับอาคารเดิมได้ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ

ฤดูฝน กลางเดือน พ.ค.-กลางเดือน ต.ค. หลายคนคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะจะทำงานก่อสร้างใดๆ จริงๆ แล้วการปรับปรุงไม่ได้มีแค่ขั้นตอนการก่อสร้างเท่านั้น งานออกแบบและการวางแผนที่ดีก็มีส่วนช่วยให้การลงมือทำเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น ฤดูนี้จึงเหมาะกับการสำรวจสภาพอาคารและวางแผนการออกแบบปรับปรุงต่อไป

สำรวจสิ่งที่ต้องทำกับบ้าน ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่สิ่งผิดปกติต่างๆ ของบ้าน จะแสดงออกมาให้เห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรอยรั่ว รอยแตกร้าว หรือสีลอกล่อน ควรใช้เวลาในช่วงนี้สำรวจบ้านและจดบันทึกสิ่งที่ต้องซ่อมแซม รวมถึงสิ่งที่อยากปรับปรุงเอาไว้

ออกแบบ ถึงช่วงนี้จะไม่เหมาะกับการเริ่มก่อสร้าง แต่ก็ควรมองหาสถาปนิก และเริ่มพูดคุยถึงสิ่งที่ต้องทำ เพื่อจะได้ใช้เวลาในการออกแบบและวางแผน การก่อสร้างได้อย่างเต็มที่

เลือกหาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ควรเริ่มกำหนดสเปกของงานก่อสร้าง แต่เนิ่นๆ การไปเดินดูวัสดุร่วมกับผู้ออกแบบจะทำให้เราได้ตัดสินใจในทุกรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านของเรา ขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างมากเช่นกัน

ลงต้นไม้ใหญ่ ฤดูฝนเป็นช่วงที่เหมาะกับการตัดแต่งต้นไม้และลงไม้ใหญ่ เนื่องจากต้นไม้จะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ในระหว่างช่วงกลางฤดู หากมีแผนจะปรับปรุงสวนหรือตัดแต่งต้นไม้ในบ้านก็ควรทำในช่วงนี้เช่นกัน

ฤดูร้อน กลางเดือน ก.พ.-กลางเดือน พ.ค.

เก็บงานทำสี ช่วงปลายฤดูหนาวที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนเป็นเวลาที่เหมาะกับการเก็บงานทำสี ทั้งงานไม้ที่ชอบแดดแรงๆ อากาศแห้งๆ และเก็บสีผนังทั้งภายในและภายนอกบ้าน

งานถมพื้นและลงเข็ม การลงเข็มขนาดตั้งแต่ 0.5 เมตรเป็นต้นไป จำเป็นต้องรอให้ดินยุบตัวตามธรรมชาติจนกระทั่งอยู่ตัวเสียก่อน การถมที่ใหม่ จึงควรทำในฤดูนี้และปล่อยให้ผ่านฤดูฝนไปก่อนก็เป็นอันใช้ได้

ฤดูหนาว กลางเดือน ต.ค.-กลางเดือน ก.พ. ช่วงนี้เหมาะกับการซ่อมแซมบ้านมากที่สุด เพราะฝนหยุดตกแล้ว สภาพอากาศก็ค่อนข้างเย็นสบาย แต่จะลงมือซ่อมอะไรก่อน-หลัง ควรเริ่มต้นด้วยการเดินสำรวจให้ทั่วบริเวณบ้านทั้งภายในและภายนอก ดูว่ามีจุดใดที่เสียหายจากฟ้าฝนบ้าง เช่น มีน้ำรั่วซึมที่ฝ้าเพดาน สีทาผนังโป่งพอง จะได้แก้ไขได้ตรงจุด

แก้ปัญหารั่วซึมและแตกร้าว เมื่อฝนผ่านพ้นไปก็ได้เวลาสะสางปัญหาบ้านรั่วซึมและแตกร้าวกันเสียที จัดการงานหลังคา จะเปลี่ยนวัสดุมุงหรือปรับปรุงหลังคาก็ควรทำในช่วงนี้ เพื่อจะได้มีที่กันแดดกันฝนสำหรับจัดการงานอื่นต่อไป

ซ่อมงานปูนและงานกระเบื้อง หากมีพื้นหรือผนังที่เป็นงานปูนหรือกระเบื้องได้รับความเสียหาย นี่ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการซ่อมแซม

แก้ไขงานระบบ ได้แก่ ระบบประปาและไฟฟ้า ไม่ว่าจะเดินท่อหรือฝังผนัง ในเมื่อมีช่างจัดการกับงานปูนอยู่แล้ว ก็สามารถทำงานระบบนี้ควบคู่กันไปได้เลย

ทำงานไม้ เช่น กรอบวงกบ ประตู หน้าต่าง หรือพื้น เมื่องานปูนเสร็จสิ้นก็ถึงคราวเริ่มทำงานไม้และงานตกแต่งต่างๆ อากาศเย็นๆ แห้งๆ ในช่วงนี้ทำให้สามารถทำงานได้อย่างไม่มีปัญหาทั้งภายในและภายนอกบ้าน

Thailand Web Stat