ชงเปิดประมูลท่าเรือสินค้า4แห่งมูลค่า 2 พันล้าน
ชง "สมคิด" เคาะเปิดประมูลท่าเรือขนส่งสินค้า 4 แห่ง มูลค่าลงทุน2 พันล้านบาทพร้อมเดินหน้าติดตั้งตั๋วร่วม
ชง "สมคิด" เคาะเปิดประมูลท่าเรือขนส่งสินค้า 4 แห่ง มูลค่าลงทุน2 พันล้านบาทพร้อมเดินหน้าติดตั้งตั๋วร่วม
นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าจะเร่งดำเนินการพัฒนาศักยภาพการใช้ท่าเรือของประเทศตามนโยบายเชื่อมโยงรูปแบบการขนส่งของประเทศ (Shift Mode) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของชาติ โดยเตรียมเปิดประมูลท่าเรือขนส่งสินค้าทั้ง 4 แห่ง รวมมูลค่าลงทุน 2,229 ล้านบาทประกอบด้วย ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด วงเงิน 1,200 ล้านบาท ท่าเรือศาลาลอย จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงิน 400 ล้านบาท ท่าเรือคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 429 ล้านบาทและท่าเรือนครพนม วงเงิน 200 ล้านบาท
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอแนวทางการจัดสรรผลตอบแทนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากผ่านความเห็นชอบภายในปลายปีนี้ กรมเจ้าท่าพร้อมจะเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารได้เลยเพราะขณะนี้ได้จักทำร่างเอกสาประกวดราคา(ทีโออาร์)ไว้เสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการนำขึ้นเว็ปไซต์เพื่อรับฟังความคิดเห็น เช่นเดียวกับโครงการติดตั้งระบบตั๋วร่วมบริเวณท่าเรือซึ่งหาก กบส.เห็นชอบแล้วจะสามารถเดินหน้าโครงการได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานเพื่อให้ได้ตัวเอกชนเข้ามาบริหาเพราะที่ผ่านมามีเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนและได้สอบถามหารือกันหลายครั้งแล้วโดยเฉพาะท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราดซึ่งเป็นท่าเรือศักยภาพในการขนส่งสินค้าตามแนวชายฝั่งเชื่อมโยงสามประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม สำหรับประเด็นด้านท่าเรือขนส่งผู้โดยสารที่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบบริหารนั้น กรมเจ้าท่าจะพิจารณาเข้าไปบริหารเองทั้งหมดเพื่อพัฒนาให้สอดรับกับความต้องการใช้งานในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลท่าเรือได้ อาทิ ค่าน้ำค่าไฟที่ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 บาท
ด้านพ.ต.ท.อนุชาต ทองอาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัจจุบันมีท่าเรือที่ยังไม่มีผู้บริหารจำนวน 8 ท่า จากทั้งหมด 49 ท่า คิดเป็น 15% แบ่งเป็นท่าเรือขนส่งผู้โดยสาร 4 แห่ง และท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดกลาง-ใหญ่อีก4แห่ง โดยที่ผ่านมาเอกชนไม่กล้าเข้ามาลงทุนนั้นเป็นเพราะท่าเรือบางแห่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการบริหาร ประกอบกับการกำหนดอัตราค่าตอบแทนของกรมธนารักษ์เดิมที่คิดเรทเดียวกันในอัตรา 50% ต่อปี แต่ล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ปรับใหม่คิดเป็น 0.3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี สอดคล้องกับแนวทางของกรมเจ้าท่าที่ได้จัดทำแนวทางการคิดค่าตอบแทนแบบใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้นขณะนี้ได้ส่งเรื่องเพื่อรอเข้าสู่ที่ประชุม กบส.แล้วหากสามารถพิจารณาเห็นชอบจะทำให้เดินหน้าโรงการหาตัวเอกชนเข้ามาบริหารท่าเรือต่อไปได้