แห่คืนช่องทีวีดิจิทัล
กสทช.เล็งชงแนวทางคืนคลื่นทีวีดิจิทัลให้ คสช.พิจารณา หลังผู้ประกอบการแห่คืนคลื่น ระบุมีไม่เกิน 15 ช่องอยู่รอดได้
กสทช.เล็งชงแนวทางคืนคลื่นทีวีดิจิทัลให้ คสช.พิจารณา หลังผู้ประกอบการแห่คืนคลื่น ระบุมีไม่เกิน 15 ช่องอยู่รอดได้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.กำลังพิจารณาเสนอทางออกให้กับธุรกิจทีวีดิจิทัล เพราะต้องยอมรับว่าจำนวนช่องที่มี อยู่มากเกินไป คือ 24 ช่อง ขณะที่ เม็ดเงินโฆษณามีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และถูกแย่งตลาดจากสื่อดิจิทัล ออนไลน์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 1.8-2 หมื่นล้านบาท
"ผู้ประกอบการเสนอมาว่าจะขอคืนใบอนุญาตได้ไหม โดยเงินที่จ่ายแล้วก็จ่ายไป แต่ส่วนที่เหลือไม่ต้องชำระ ซึ่งจากการศึกษากฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ ถ้าจะทำต้องแก้กฎหมาย โดยเสนอให้หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการ" นายฐากร กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้ กสทช.ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปแล้ว โดยยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลออกไปอีก 9 เดือน ซึ่งจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ช่องทางดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหามาก ยิ่งขึ้น เพราะการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล ลงทุนสูงหลักพันล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินโฆษณามีจำกัด
นายฐากร กล่าวว่า สัดส่วนจำนวน ช่องทีวีดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควรมีประมาณ 15-16 ช่อง เมื่อหารเฉลี่ยจากรายได้ของอุตสาห กรรมโฆษณามูลค่าแสนล้านบาท เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ช่องละ 6,000-7,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะสามารถอยู่รอดได้ ปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่ายค่าตอบแทนให้กับ กสทช.แล้วประมาณ 40% เหลืออีกประมาณ 60%
ขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์ต้องเร่งปรับตัว เพราะปัจจุบันสื่อโซเชียล มีเดียมีอิทธิพลต่อการรับชมรายการของผู้ชมอย่างมาก ซึ่ง กสทช.กำลังเร่งดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลรายการโทรทัศน์ผ่านสื่อออนไลน์ (โอทีที) ที่ขยายตัวอย่างมาก โดยในวันที่ 11-12 ก.ย. จะมีการ ประชุมระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการรับชมรายการโทรทัศน์และวิทยุผ่านสื่อออนไลน์ร่วมกัน
สำหรับกรณีกลุ่มเบียร์ช้างของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าถือหุ้นในบริษัทผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 2 ราย ได้แก่ กลุ่มอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็มนั้น สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นเพียงการเข้ามาถือหุ้น ไม่ได้ เปลี่ยนมือ และไม่เข้าข่ายเกณฑ์อำนาจ เหนือตลาด