posttoday

ทำงานมาตั้งนาน ทำไมไม่มีเงินเก็บ

28 สิงหาคม 2560

เรื่อง กันย์ภาพ pixabayเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า ทำงานมาเป็นสิบปีแต่แทบไม่มีเงินเก็บเลย หลักทรัพย์ชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือคอนโดมิเนียมก็ไม่มีอีกด้วย เงินหายไปไหนหมด แถมเงินเดือนก็เยอะขึ้นกว่าตอนทำงานใหม่ๆ นี่ถือว่าต้องซีเรียสแล้วนะ เพราะอะไรต้องมาหาสาเหตุกันดีกว่า ว่าเกิดจากอะไรและต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร

เรื่อง กันย์ภาพ pixabay

เคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า ทำงานมาเป็นสิบปีแต่แทบไม่มีเงินเก็บเลย หลักทรัพย์ชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือคอนโดมิเนียมก็ไม่มีอีกด้วย เงินหายไปไหนหมด แถมเงินเดือนก็เยอะขึ้นกว่าตอนทำงานใหม่ๆ นี่ถือว่าต้องซีเรียสแล้วนะ เพราะอะไรต้องมาหาสาเหตุกันดีกว่า ว่าเกิดจากอะไรและต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร

1.ต้องตั้งเป้าหมายและตั้งใจเก็บ

มีหลายๆ คนที่ไม่เคยคิดว่าจะเก็บเงินไปทำไม มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตแบบไหน อนาคตคิดอยากจะทำอะไรบ้างก็เลยขาดแรงจูงใจที่คิดจะเก็บเงิน แต่ถ้าเราคิดที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองขึ้นมาเช่น อยากเก็บเงินไว้เรียนต่อ ไว้ซื้อบ้าน หรืออยากเก็บเงินสักก้อนไว้ประกอบธุรกิจที่ตัวเองชอบ คราวนี้เราก็จะมีแรงจูงใจที่คิดจะเก็บเงินขึ้นมาและก็จะหาวิธีเก็บออมเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งใจเอาไว้

2.คิดทุกครั้งที่จะใช้เงิน

สินค้าและบริการในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากและก็ยังคงมีสิ่งใหม่ๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลาจึงไม่เป็นเรื่องแปลกถ้าสิ่งเหล่านี้จะดึงดูดใจให้เราพร้อมจะจ่ายอยู่เสมอ ไหนจะบัตรเครดิตที่สามารถซื้อก่อนแล้วค่อยผ่อนจ่ายทีหลังได้ สิ่งเหล่านี้แหละที่จะทำให้เราใช้จ่ายอย่างไม่ได้คิดเท่าที่ควรซึ่งพอรู้ตัวอีกทีเงินเดือนก็หมดเสียแล้ว บางคนนอกจากจะเงินหมดไม่เหลือเก็บแล้วยังอาจจะต้องเป็นหนี้ให้กับสิ่งที่เกินความจำเป็นเหล่านี้อีกด้วย

3.ใช้บัตรเครดิตให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย

การมีบัตรเครดิตหลายใบไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไปของคนส่วนใหญ่ แม้ว่าคุณจะมีวินัยทางการเงินมากแค่ไหนก็ตาม แต่การมีบัตรเยอะๆ จะทำให้คุณเผลอไผลในการใช้เงินได้ง่ายขึ้นเพราะการรูดปรื๊ดๆ โดยไม่เห็นตัวเงินจะทำให้ขาดความยับยั้งช่างใจ ถ้ามีหลายใบแนะนำให้คุณลดจำนวนการใช้บัตร ให้เหลือเพียงใบเดียวสำหรับในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

4.รสนิยมเปลี่ยนไปตามรายได้

เงินเดือนขึ้นทุกๆ ปี แต่ทำไมนะเงินในแต่ละเดือนๆ ก็ยังใช้หมดไม่เหลืออยู่เหมือนเดิม เป็นเรื่องธรรมดาที่พอเรามีรายได้มากขึ้น รสนิยมการเลือกกินเลือกใช้ของก็จะแพงมากขึ้นไปด้วย อย่างเช่น ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ รายได้น้อยๆ ก็อาจจะเลือกกินข้าวแกงอาหารตามสั่งตามร้านข้างทางที่ไม่หรูหรานัก ดื่มกาแฟแก้วละไม่กี่สิบบาท เดินทางโดยการขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ซื้อเสื้อผ้าตามตลาดนัดแถวออฟฟิศ หรือรอซื้อสินค้าลดราคาเยอะๆ ตามห้างสรรพสินค้า

พอรายได้สูงขึ้นบางคนก็อาจรู้สึกพอใจกับการได้กินอาหารตามร้านที่หรูหราขึ้นหรือการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงๆ เพื่อเป็นการยกระดับรสนิยมของตัวเอง และพร้อมจะใช้จ่ายเพื่อความสะดวกในการเดินทางที่ดีกว่าการขนส่งสาธารณะแบบปกติ เพราะฉะนั้นรายได้ที่มากขึ้นก็เลยถูกทดแทนด้วยรายจ่ายที่มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรสนิยมนั่นเอง

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของหลายๆ คน คือ การประสบความสำเร็จทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จทางการเงิน คือ การบริหารเงินในกระเป๋าของเรานั่นเอง อันที่จริงมันไม่สำคัญว่าวันนี้คุณมีรายได้เท่าไร แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณมีเงินออมเท่าไร และบริหารเงินออมของคุณให้มันงอกเงยออกดอกออกผลได้อย่างไรต่างหาก สรุปง่ายๆ คือไม่สำคัญคุณจะหาเงินเก่งแค่ไหน ที่สำคัญคือคุณเก็บเงินแค่ไหนมากกว่า

เมื่อรู้แล้วว่าเราต้องมีเงินออม ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในแต่ละเดือนคุณจะเหลือเก็บก่อนแล้วค่อยเอาไปใช้ หรือเหลือจ่ายก่อนค่อยเอาไปเก็บ ลองพิจารณาสมการด้านล่างว่าแบบใดที่เป็นตัวคุณ

- รายได้ - รายจ่าย = เงินออม (เหลือจ่าย ค่อยเอาไปเก็บ)

- รายได้ - เงินออม = รายจ่าย (เหลือเก็บ ค่อยเอาไปใช้)

สมการออมเงินที่ดีต้องเป็นแบบสอง คือ หักเงินออมไว้ก่อน ที่เหลือจึงนำไปใช้จ่าย เพื่อกันเงินสำหรับการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอในแต่ละเดือน แต่สำหรับคนที่มองหาความมั่งคั่ง สมการแบบนี้ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องเลือกใช้สมการเศรษฐี นั่นคือ

- รายได้ - เงินออม - เงินลงทุน = รายจ่าย

โดยหลังหักเงินออมแล้ว ยังต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนด้วย เพื่อให้เงินทำงาน เงินทองจะได้งอกเงยยิ่งๆ ขึ้นไป ค่อยเริ่มๆ จากเงินหลักพันก่อนออมสักเดือนละ 3,000-4,000 บาท พัฒนาไปจนเป็นเดือนละ 5,000-6,000 บาท จนถึงหลักหมื่นในที่สุด

เมื่อคุณเห็นจำนวนเงินที่งอกเงยมากขึ้น คุณจะมีกำลังใจและจะสนุกกับการเก็บเงิน ในที่สุดคุณจะมี ความสุขกับการออม แถมยังมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นอีกด้วย n