posttoday

ลาวเดินหน้า นิคมอุตสาหกรรม อนุมัติ 8,500 ไร่ ติดเวียงจันทน์

09 กันยายน 2560

นโยบายของรัฐบาลลาว ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด ที่ประกาศนโยบายลบล้างความยากจนของประเทศให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2020

โดย จักรพันธ์ นาทันริ

นโยบายของรัฐบาลลาว ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด ที่ประกาศนโยบายลบล้างความยากจนของประเทศให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2020 และนำพาประเทศหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาให้ได้ในปี ค.ศ. 2030 เป็นนโยบายที่เป็นการเปิดประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจการค้าและการลงทุน

ล่าสุด รัฐบาลลาวอนุมัติพื้นที่กว่า 1,300 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8,500 ไร่ ให้กับกลุ่มบริษัท พงสะหวัน กรุ๊ป ดำเนินการ จัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้นที่ เมืองไชยเชษฐา ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ไม่ถึง 10 กิโลเมตร

สมบูน พงสะหวัน ประธานกรรมการ บริหารกลุ่มบริษัท พงสะหวัน กรุ๊ป เปิดเผยว่า เขตนิคมอุตสาห กรรมแห่งใหม่ของนครหลวง เวียงจันทน์ มีสภาพทำเล ที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการค้า และการลงทุนอย่างมาก โดยที่บริษัทได้ประสานความ ร่วมมือกับบริษัท สุบานา จูลอง ประเทศสิงคโปร์ และกลุ่มบริษัท แม่โขง กรุ๊ปในการศึกษาออกแบบและสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และเดือนที่ 7 ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที เท่ากับว่าในเดือน เม.ย. 2561 เขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้ก็พร้อมที่จะรองรับนักลงทุน

"เนื้อที่รวมกว่า 8,500 ไร่ แห่งนี้จะถูกจัดแบ่งพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และจัดให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ปลอดมลพิษ โดยทุกตารางเมตรจะถูกบริหารจัดการให้คุ้มค่ามากที่สุด มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่พัก หอพักพนักงาน โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานีตำรวจ การให้บริการทางภาษี และศุลกากร และเป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจในการเข้ามา ลงทุนในลาว"

นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องของการยกเว้นภาษีและสิทธิพิเศษต่างๆ ตามที่รัฐบาลลาวกำหนดไว้ ส่วนการจัดการ พื้นที่นั้นในระยะที่ 1 พื้นที่ 300 เฮกตาร์ จะบริหารจัดการโดยบริษัท พงสะหวัน กรุ๊ป และอีก 1,000 เฮกตาร์ จะเป็นการดำเนิน การแบบร่วมทุนกับภาครัฐบาล หรือพีพีพี โดยขณะนี้เร่งดำเนินการในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้

สมบูน บอกว่า กลุ่มนักธุรกิจจากประเทศไทยที่ให้ความสนใจในนิคมอุตสาห กรรมแห่งนี้ จะเป็นโรงงานผลิตรองเท้ายี่ห้อ ชั้นนำระดับโลก ร้านอาหารและกลุ่มธุรกิจ โรงแรม โดยนักลงทุนจากไทยยังคงมีสัดส่วน การลงทุนในลาวเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน

เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้า จังหวัดขอนแก่น ในฐานะนักธุรกิจของไทยที่ได้รับการประสานให้เข้ามาลงทุน ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ของลาว บอกว่า การร่วมลงทุนในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องสิทธิพิเศษที่นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติจะได้รับในการเข้าร่วมดำเนินการดังกล่าว

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยและของประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม จะพบว่า ประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีการให้สิทธิพิเศษมากกว่าของไทย จึงเป็นมูลเหตุของการย้ายฐานการผลิต หรือการตัดสินใจไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการยกเว้นภาษีนำเข้าและ ส่งออก รวมทั้งค่าแรงงานและสิทธิประโยชน์ ต่างๆ ที่จะได้รับ

"ที่สำคัญที่สุด คือ จีเอสพี ที่ไทยยังคงถูกตัดสิทธิในเรื่องของสินค้า ส่งออกและนำเข้า จุดดังกล่าวนี้ทำให้นักธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างโรงงานรองเท้า หากต้นทุนอยู่ที่คู่ละ 1,000 บาท แต่ไทยถูกกำหนดสิทธิและมีมูลค่าภาษี ที่คู่ละ 10% เท่ากับว่าต้นทุนเราจะ เพิ่มขึ้นอีกคู่ละ 100 บาท ขณะที่ค่าแรงไทย อยู่ที่วันละ 300 บาท ประเทศเพื่อนบ้านวันละ 200 บาท เมื่อนำมาบวกลบคูณหารแล้วจะพบว่า ราคาต้นทุนที่ทำจากต่างประเทศจะลดลงหลายสิบบาท"

ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า ประเทศลาวมีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลลาวก็เปิดกว้างให้กับนักลงทุนทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลงทุน โดยมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มากกว่าไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยก็ควรที่จะกำหนดสัดส่วน ความชัดเจนในด้านต่างๆ ให้ครอบคลุม และเชิญชวนให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น และจะต้องรองรับกลุ่มผู้ประกอบการ ในระดับต่างๆ ที่มีกำลังให้เพิ่มมากกว่านี้ อีกด้วย