posttoday

อินเทอร์เน็ตองค์กร แข่งบริการมัดใจ

20 กันยายน 2560

เรื่อง | ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรหรือส่วนตัว ต่างก็มีการใช้งานมากไม่แพ้กัน ทำให้ทรูอินเทอร์เน็ตกลุ่มองค์กร ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้งานของธุรกิจและพนักงานในองค์กร หรือแม้กระทั่งการใช้งานของลูกค้าทั่วไปที่มาใช้บริการตามสาขาต่างๆ

เรื่อง | ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

การใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรหรือส่วนตัว ต่างก็มีการใช้งานมากไม่แพ้กัน ทำให้ทรูอินเทอร์เน็ตกลุ่มองค์กร ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้งานของธุรกิจและพนักงานในองค์กร หรือแม้กระทั่งการใช้งานของลูกค้าทั่วไปที่มาใช้บริการตามสาขาต่างๆ

วสุ คุณวาสี ผู้อำนวยการฝ่ายขายธุรกิจทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น เล่าให้ฟังว่า ลูกค้าองค์กรมีการใช้งานดาต้าเยอะขึ้น ทำให้บริษัทต้องลงทุนเรื่องแบนด์วิดท์เพิ่ม รวม ทั้งขยาย CDN (Content Delivery Network) ให้มีความหลากหลายและเข้าถึงคอนเทนต์ต่างประเทศได้เร็วขึ้น

สำหรับในปีนี้ ทรูอินเทอร์เน็ตได้ลงทุนกว่า 400 ล้านบาท ในการเพิ่มอุปกรณ์และขยายแบนด์วิดท์กว่า 250 Gbps เพื่อให้ทันต่อการใช้งานที่เติบโตเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยถึงสิ้นปีนี้ตั้งเป้าจะมีแบนด์วิธมากถึง 700 Gbps ถือว่ามากที่สุดในกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กร

ปัจจุบันการใช้งานคอนเทนต์ของลูกค้าแบ่งเป็น การเข้าใช้งานคอนเทนต์ในประเทศ 70% ที่เหลือเป็นคอนเทนต์ต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนแบนด์วิดท์จะช่วยให้องค์กรสามารถค้นหาข้อมูลจากต่างประเทศได้เร็วขึ้น ถือเป็นแนวโน้มความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า บริษัทใน หัวเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ทำให้การขยายเครือข่ายเพื่อรองรับการเข้าใช้งานทั้งจากพีซี โน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ทรูอินเทอร์เน็ตมีลูกค้าในกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 5,000-6,000 ราย จากลูกค้าองค์กรทั้งหมดที่มีอยู่ 9,700 ราย โดยที่เหลือเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม ซึ่งแผนงานนับจากนี้จะยังคงเน้นการทำตลาดเจาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ราชการ การศึกษา และการเงิน

"ราคาแพ็กเกจของทรูอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการลูกค้าองค์กรจะมีเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันบาทจนถึงหลักล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการใช้ของลูกค้าองค์กรทุกขนาด" วสุ กล่าว

จากมูลค่าตลาดรวมอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรที่มีกว่า 1 หมื่นล้านบาท ไม่รวมดาต้าเซ็นเตอร์ บริษัทมั่นใจว่าเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดดังกล่าว โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 26% รองลงมาคือ ซีเอส ล็อกซอินโฟ มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 19% ตามด้วย ทีโอทีส่วนแบ่ง 19% แคทส่วนแบ่ง 7% เอดับบลิวเอ็นมีส่วนแบ่ง 6% และ 3บีบี มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 5%

ก่อนหน้านี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้คาดการณ์มูลค่าการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตปีนี้อยู่ที่ 3.5% ซึ่งบริษัทโตกว่าภาพรวมตลาด แต่ก็ยังตั้งเป้าเติบโตเพียง 7% ซึ่งถือว่าจากส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 26% ก็ถือว่าเป็น เม็ดเงินจำนวนไม่น้อย

ด้านการแข่งขัน บริษัทมองว่า ผู้ให้บริการรายใหม่มีการทำราคาแข่งกัน ทำให้เกิดภาวะสงครามราคาขึ้น ซึ่งก็เข้าใจว่าแต่ละองค์กรมีกลยุทธ์ในการทำตลาดที่แตกต่างกัน และส่งผล กระทบต่อภาพรวมของผู้ให้บริการรายเดิม ทำให้การทำตลาดของทรูอินเทอร์เน็ตต้องเน้นด้านโซลูชั่นมากขึ้น

วสุ ยังกล่าวถึงแผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ว่า จะเน้นทำตลาดในกลุ่มธุรกิจโรงแรม คอนโด เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ขนาดกลางและย่อมมากขึ้น ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว และเชื่อว่ากลุ่มนี้ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น การใช้แพ็กเกจของผู้ใช้งานทั่วไปแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์การใช้งานได้ตรงความต้องการ

นอกจากนี้ยังมองว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและเอสเอ็มอี น่าจะเป็นโอกาสการเติบโตใหม่ของธุรกิจบริษัท ส่วนเกมออนไลน์แม้จะมีการใช้งานดาต้าจำนวนมากแต่เป็นการใช้แพ็กเกจในกลุ่ม ลูกค้าทั่วไป ไม่ได้ใช้แพ็กเกจขององค์กร แต่ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มเกมมิ่งสร้าง รายได้ให้กลุ่มคอนซูเมอร์เยอะมากเพราะต้นทุนไม่สูง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มสตาร์ทอัพไทย ยังไม่ได้มีการลงทุน เรื่องโครงสร้างระบบอินเทอร์เน็ตในสำนักงานมากนัก หากไม่มีพาร์ตเนอร์รายใหญ่ช่วยลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเลือกลงทุนระบบไอทีภายในองค์กรส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่รองรับการใช้งานปริมาณไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าหลังการแข่งขันเรื่องสงครามราคาผ่านไป จะเริ่มเข้าสู่ยุคของการแข่งขันด้านโซลูชั่น จึงเน้นการทำตลาดผ่านโซลูชั่นที่องค์กรจะใช้งานแอพพลิเคชั่น และบริการหลังการขาย เพื่อเป็นตัวเสริมให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าในการใช้งานมากกว่าเดิม

"นอกจากความเร็วในการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว จุดแข็งของทรูคือเรื่องของรูปแบบบริการเหมาะสมตามการใช้งานของแต่ละธุรกิจ การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยและสัมมนาองค์กร จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้บริษัทเดินหน้าได้อย่างมั่นคง" วสุ กล่าว

ด้านซีเอส ล็อกซอินโฟเอง แม้ว่าจะเป็นเบอร์สองในแง่ส่วนแบ่งตลาด แต่ก็ถือว่ามีความแข็งแรงในแง่การทำตลาด รวมทั้งมีจุดแข็งในเรื่องการให้บริการองค์กรขนาดใหญ่ หากทำตลาดร่วม กับเอดับบลิวเอ็นซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เอไอเอสเช่นกันก็ถือว่าน่ากังวล แต่ทั้งคู่กลับเลือกแยกกันทำตลาด ทำให้ส่วนแบ่งตลาดลดลง ซึ่งทรูไม่ได้มีความกังวลและเชื่อว่ายังรักษาฐานลูกค้าได้ดีเช่นเดิม

อีกความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการในตลาดอินเทอร์เน็ตองค์กร คือ เอไอเอส ที่เพิ่งประกาศกลยุทธ์การรุกตลาดองค์กรที่ต้องการใช้งานคลาวด์ ด้วยการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้องค์กรที่ใช้งานทั้งอินเทอร์เน็ตและคลาวด์ มาเสริมจุดแข็งเพื่อเจาะตลาดองค์กรทุกขนาดให้มากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยงัดความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นตัวชูโรง พร้อมกับเร่งทำตลาดกลุ่มธุรกิจองค์กรมากขึ้น

งานนี้ต้องลองวัดกันดูว่าผู้ให้บริการรายใดจะตอบโจทย์ธุรกิจได้ดีกว่ากัน แน่นอนว่าลูกค้ามีแต่ได้เปรียบ เพราะมีทั้งเครือข่ายและบริการหลังการขายที่ดีไม่แพ้กัน n