posttoday

ภาพวาดราชสำนัก ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์

08 ตุลาคม 2560

ในบรรดาจิตรกรแห่งราชสำนักยุโรป นอกจาก ดิเอโก เบลาเกซ (สเปน)

ภาพวาดราชสำนัก ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์

โดย ปณิฏา

ในบรรดาจิตรกรแห่งราชสำนักยุโรป นอกจาก ดิเอโก เบลาเกซ (สเปน),อันโทนี ฟาน ไดค์ (ดัตช์) และชาร์ลส์ เลอ บรุน (ฝรั่งเศส) ระดับท็อปไฟฟ์ ต้องมีชื่อของ ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์ (มีชีวิตระหว่างปี 1497-1543) ติดโผอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

จิตรกรชาวเยอรมัน-สวิส ที่อยู่ในกลุ่มจิตรกรเรอเนสซองซ์เหนือ (Northern Renaissance) เขามีชื่อเสียงว่าเป็นสุดยอดของนักวาดภาพเหมือนบุคคล หรือภาพพอร์เทรต (Portrait) ที่ดีที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 16 นอกจากนั้น เขายังวาดภาพอิงศาสนาคริสต์ รวมทั้งภาพแนวเสียดสีการเมืองอีกด้วย โดยเหตุที่เขามี “เดอะ ยังเกอร์” ห้อยท้ายชื่อก็เพื่อไม่ให้สับสนกับบิดา ฮันส์ ฮูลไบน์ ดิเอลเดอร์ จิตรกรชื่อดังจากยุคโกธิคนั่นเอง 

ฮันส์ เกิดที่เอาส์เบิร์ก ทว่า ไปสร้างสรรค์ผลงานส่วนใหญ่ในบาเซิล โดยในช่วงแรกๆ เน้นสร้างศิลปะประดับแท่นบูชา และภาพอิงศาสนา นอกจากนี้ เขายังออกแบบลวดลายกระจกสเตนกลาส และพิมพ์หนังสือศิลปะ ก่อนที่จะเริ่มฝึกฝนการวาดภาพพอร์เทรต และสร้างชื่อให้ตัวเองในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะภาพพอร์เทรตของ เดสิเดอริอุส เอราสมุส หรือ เอราสมุส แห่งรอตเทอร์ดัม นักปรัชญามานุษยนิยมที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมาก

เมื่อแนวคิดปฏิรูปศาสนาใหม่อย่าง นิกายโปรเตสแตนต์ เข้ามาถึงบาเซิล ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์ ก็เข้าไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง โดยเฉพาะการวาดภาพแนวโฆษณาชวนเชื่อ ในขณะที่ยังทำงานวาดภาพอิงศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิกอยู่ด้วย เขาได้กลิ่นอายโกธิคมาจากบิดา รวมถึงอิทธิพลจากแนวความคิดใหม่ๆ อย่างเรอเนสซองซ์สมัยมานุษยนิยม ผสมผสานกันจนกลายเป็นสไตล์ของตัวเอง

ภาพวาดราชสำนัก ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์

ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์ เดินทางมายังอังกฤษครั้งแรกในปี 1526 เพื่อหางานท้าทายใหม่ๆ ตามคำแนะนำของ เอราสมุส แห่งรอตเทอร์ดัม เขาเข้าสู่แวดวงของกลุ่มมานุษยนิยมของอังกฤษ อย่าง โทมัส มัวร์ และเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นจิตรกรเนื้อหอม แล้วได้เป็นจิตรกรคู่ใจของ แอน โบลีน และโทมัส ครอมเวลล์ (เอิร์ล แห่ง เอสเซกซ์ ที่ 1)

ต่อมาเขาได้เลื่อนชั้นเป็นจิตรกรประจำราชสำนักอังกฤษ โดยวาดภาพถวายพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ซึ่งไม่เพียงถวายงานเฉพาะภาพพอร์เทรตเท่านั้น ยังออกแบบตกแต่งในงานเฉลิมฉลองต่างๆ ออกแบบจิวเวลรี่ รวมทั้งเครื่องประดับมีค่าอื่นๆ

ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 รวมทั้งพระสาทิสลักษณ์ของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ นับเป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก ส่วนหนึ่งเนื่องเพราะ ณ ขณะนั้นพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ทรงครองอำนาจเด็ดขาด เหนือกว่าฝ่ายศาสนาของอังกฤษเสียอีก

ภาพวาดราชสำนัก ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์

ผลงานจิตรกรรมของฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์ ได้การยอมรับตั้งแต่ช่วงต้นๆ ในอาชีพของเขา นิโกลาส์ บูร์บง กวีและนักเคลื่อนไหวชาวฝรั่งเศส ขนานนามให้เขาเป็น “อะเพลลิสแห่งยุคสมัย” (อะเพลลิสเป็นจิตรกรคนสำคัญสมัยกรีกโบราณ)

ฮันส์ ยังได้รับยกย่องจากบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลป์ว่า เป็น “หนึ่งเดียวคนนี้” ในแวดวงศิลปะ ด้วยความที่มีผลงานแบบไม่เหมือนใคร ทั้งไม่ได้จัดอยู่ในยุคสมัย หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ของการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม

หลังจากเขาเสียชีวิต ผลงานจำนวนมากได้สูญหายไป แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ยังคงหลงเหลือจากศตวรรษที่ 16 เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดยในราวศตวรรษที่ 19 ได้มีการจารึกไว้ว่า ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์ คือ ยอดจิตรกรนักวาดภาพพอร์เทรตที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก และในศตวรรษต่อมา นิทรรศการย้อนรำลึกถึงจิตรกรท่านนี้ก็มักเน้นนำเสนอภาพพอร์เทรตเป็นสำคัญ

บ้างก็จำกัดความจิตรกรรมของฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์ ให้เป็นศิลปะแบบเรียลิสม์ เนื่องเพราะรายละเอียดในภาพวาดของเขามีความแม่นยำเหมือนจริงสูงมากพอร์เทรตแต่ละภาพได้การยอมรับว่าเหมือนคนที่เป็นแบบทุกกระเบียดนิ้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสามารถในการวาดภาพพอร์เทรต ส่วนหนึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบิดา ฮันส์ ฮูลไบน์ ดิ เอลเดอร์รวมทั้งความที่เป็นลูกหลานชาวเยอรมัน ที่บรรดาจิตรกรตัวน้อยๆ จะได้รับการฝึกฝนการใช้ชอล์กและชาร์โคล วาดภาพดรอว์อิงอย่างหนักตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งบิดาของเขาเองก็มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ในการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคดรอว์อิง ไม่ว่าจะด้วยชอล์กหรือซิลเวอร์พอยต์ก็ตาม

ภาพวาดราชสำนัก ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์

ในช่วงแรกๆ ของการวาดภาพพอร์เทรตถวายราชสำนักอังกฤษ ฮันส์ ฮูลไบน์ เดอะ ยังเกอร์ อาศัยเทคนิคแบบ ฌอง คลูเอต์ (จิตรกรฝรั่งเศส) ที่เขาศึกษามาตั้งแต่เด็กๆ ก็คือ วาดด้วยชอล์กสีและชอล์กดำผสมผสานกันไปบนกระดาษที่ไม่เคลือบสีอะครีลิก ขณะที่หลังจากปี 1532 เขาจะหันมาวาดบนกระดาษที่เคลือบอะครีลิกสีชมพู โดยเพิ่มการใช้ปากกาและพู่กัน ผสมผสานกับสีชอล์ก ซึ่งผลงานในช่วงหลังๆ ฮันส์จะเน้นไปที่เทคนิคของฝีแปรง มากกว่าจะใส่ใจกับสีหน้าของแบบ

หากที่ใช้ในทุกๆ ภาพพอร์เทรตของเขา คือการอาศัยอุปกรณ์เรขาคณิตมาช่วยเพิ่มความแม่นยำให้ภาพเหมือนจริงทุกองศา นอกจากนี้ เทคนิคที่เขานิยมใช้อีกอย่าง ที่ทำให้ภาพมีชีวิตชีวาขึ้นมา ก็คือ สีผสมเปลือกไข่ (Tempera and oil) ส่วนที่ได้รับคำยกย่องให้เป็นนักวาดพอร์เทรตระดับมาสเตอร์ ก็ด้วยความใส่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ใส่ใจในทุกๆ กระเบียดนิ้ว ทั้งลวดลายและความเงา/ด้านของเนื้อผ้า ความเหมือนจริงในการกระทบของแสง ฯลฯ ซึ่งต้องบอกว่า บางรายเป็นการนั่งให้วาดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

ความเป็นมานุษยนิยมของเขาก็มีส่วนในพอร์เทรตแต่ละภาพ ในการดึงเอาบุคลิกเฉพาะตัวของแต่ละคนออกมาได้อย่างดีเยี่ยม