posttoday

ก่อสร้างโดยไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้าง?

25 ตุลาคม 2560

อิสระ บุญยังนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรมีคำถามว่า ในการปลูกสร้างอาคารเราไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างได้หรือไม่ ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2535 เนื้อหาสำคัญคือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 39 ทวิ

อิสระ บุญยังนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

มีคำถามว่า ในการปลูกสร้างอาคารเราไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างได้หรือไม่ ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2535 เนื้อหาสำคัญคือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 39 ทวิ

"มาตรา 39 ทวิ ผู้ใดจะก่อสร้างดัดแปลงหรือถอนอาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ได้...โดยอย่างน้อยต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้" เอกสารที่ต้องยื่น อาทิ ชื่อของวิศวกร ชื่อของสถาปนิก ทั้งผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงาน รวมถึงต้องมีหนังสือรับรองบุคคล คือ วิศวกรหรือสถาปนิก ทั้งที่เป็นผู้ออกแบบและเป็นผู้ควบคุมงาน

นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องของผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของอาคารที่จะก่อสร้างดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร และหากเป็นกรณีของอาคารหรือโครงการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ก็ต้องมีหนังสือแสดงการให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้วย

แต่เดิมนั้นการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคารทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมต้องเป็น "วุฒิสถาปนิกหรือเป็นวุฒิวิศวกร" เท่านั้น สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็คือ เป็นการแบ่งแยกขนาดของอาคารหรือโครงการ แต่ทั้งนี้ในกรณีอาคารที่จะก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนเป็นอาคารสูง (มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป) หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ (พื้นที่ตั้งแต่ 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป) ผู้รับผิดชอบงานออกแบบก็ยังคงต้องเป็น "วุฒิวิศวกรและวุฒิสถาปนิก"

แต่หากไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษก็สามารถให้ "สามัญสถาปนิก-สามัญวิศวกร" เป็นผู้ออกแบบได้ ในขณะที่อาคารขนาดเล็กๆ สามารถให้ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมสาขาสถาปัตยกรรมหลักและวิศวกรควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรก็ได้

สำหรับในเรื่องของระยะเวลานั้น หากแจ้งขอก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ และผู้แจ้งได้ชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจแบบแปลนครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องออกใบรับแจ้งภายใน 3 วันทำการ และเมื่อได้ใบรับแจ้งแล้วก็สามารถก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารได้เลย แต่ทั้งนี้ภายใน 120 วัน ตั้งแต่วันออกใบรับแจ้ง หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบเหตุไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็สามารถทักท้วงและแจ้งให้แก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งเรื่องของแบบแปลนหรือรายการคำนวณต่างๆ

แต่หากไม่มีข้อทักท้วงภายใน 120 วัน ก็ถือว่าการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอน อาคารดังกล่าว ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว เว้นแต่มีบางกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถแจ้งข้อทักท้วงได้ตลอดเวลา อาทิ 1.การรุกล้ำที่สาธารณะ 2.ระยะหรือระดับระหว่างอาคารกับถนน ตรอก ซอย ทางเท้า หรือที่สาธารณะ ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ประกาศหรือ ข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือกฎหมายอื่น หรือ 3.เกี่ยวกับข้อกำหนดในการห้ามก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน ใช้ หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารชนิดใด หรือประเภทใดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ประกาศ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นฯ 3 กรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ ถือว่าเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นสามารถทักท้วงได้ตลอดเวลา

ผู้เขียนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีที่ต้องมีหนังสือรับรองจากสภาสถาปนิกหรือสภาวิศวกร ควรจะใช้ระบบออนไลน์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถตรวจสอบสถานะของสถาปนิกหรือของวิศวกรได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาไปขอหนังสือรับรองจากสภาสถาปนิกหรือสภาวิศวกรอีก

การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จึงถือเป็นช่องทางสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้เอื้ออำนวยให้ผู้ประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร สามารถดำเนินงานได้โดยรวดเร็วไม่มีอุปสรรคในเรื่องของเวลา และสำหรับภาคธุรกิจการลดเวลา คือ ปัจจัยสำคัญในการลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนด้วย