ถ้าไทยนำเข้าแอลเอ็นจี จะมีผลอย่างไรกับการลงทุน
โดย สมิทธ์ พนมยงค์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้ฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์ก็มักจะเห็นบทความเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) อยู่บ่อยครั้ง ใจความหลักๆ ที่เห็นจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับก๊าซแอลเอ็นจีและความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเริ่มนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี
โดย สมิทธ์ พนมยงค์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้ฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์ก็มักจะเห็นบทความเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) อยู่บ่อยครั้ง ใจความหลักๆ ที่เห็นจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับก๊าซแอลเอ็นจีและความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเริ่มนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี
ทั้งนี้ ก็เพื่อเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงาน เมื่อได้ฟังดังนั้นก็อดไม่ได้ที่จะไปศึกษาเพิ่มเติม เพราะเคยจำได้ว่าเมื่อ 12 ปีก่อนตอนผมยังเป็นผู้ดูแลลูกค้ากลุ่มพลังงาน ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองเหลือเกือบ 20 ปี (จำนวนปีคำนวณจากปริมาณสำรองหารด้วยปริมาณการใช้ต่อปีในขณะนั้น) และแถมยังมีการสำรวจเพิ่มอยู่สม่ำเสมอทำให้ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่นี่เราเริ่มนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีและทางการยังออกมาให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์พลังงานสำรองของเราน่าจะเริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยนผันกันแล้ว
แน่นอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงสิบกว่าปีที่ ผ่านมาทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชนิดอื่น เช่น ถ่านหิน ก็ถูกประท้วงจนต้องล้มเลิกไป การเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมก็เป็นประเด็นถกเถียงกันใหญ่โตทางการเมืองจนเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนเมียนมาเองเมื่อหันมาเปิดประเทศก็เปลี่ยนใจลดปริมาณการขายก๊าซให้ประเทศไทย เพื่อจะเก็บก๊าซไว้พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของตนเอง ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองในอ่าวไทยก็ต้องลดลงไปตามลำดับอย่างไม่น่าแปลกใจ เมื่อไปอ่านรายงานของกระทรวงพลังงานก็พบว่าเหลือปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติไม่ถึงสิบปีแล้ว จึงต้องเริ่มนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีและทยอยลดการใช้ก๊าซจากแหล่งในประเทศเพื่อให้มีใช้ไปได้ยาวขึ้น เป็นการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน
ถ้าต้องเริ่มนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี แล้วใครจะโดนกระทบบ้าง! แน่นอนกลุ่มแรกก็คงหนีไม่พ้นผู้ใช้ไฟที่ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในอนาคต เพราะราคาก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าบวกด้วยค่าขนส่งนั้นแพงกว่าก๊าซที่ผลิตได้จากอ่าวไทย อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟมากๆ ในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมโลหะก็จะถูกกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อต้นทุนพลังงานที่มาจากก๊าซธรรมชาติหรือแอลเอ็นจีแพงขึ้น
ในขณะที่ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ถูกลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฯ ก็คงจะทยอยปรับสัดส่วนการซื้อไฟฟ้า โดยเพิ่มการซื้อไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้น ธุรกิจพลังงานทางเลือกเองก็น่าจะเติบโตต่อเนื่องไปได้อีกหลายปี ส่วนธุรกิจที่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติก็ไม่ต้องห่วงนะครับ เขามีสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฯ รองรับ และสามารถผลักภาระต้นทุน เชื้อเพลิงไปให้ผู้บริโภคได้ ไม่กระทบกับการดำเนินงานและผลกำไร ของบริษัท
อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะโดนกระทบแน่ๆ ก็คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีความได้เปรียบในการแข่งขันจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ถูกกว่าราคาตลาดโลก เมื่อก๊าซในอ่าวไทยเริ่มทยอยลดลงและประเทศต้องเริ่มนำเข้า แอลเอ็นจีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ต้องเริ่มปรับตัว จากที่เดิมใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากก๊าซธรรมชาติก็จะต้องเปลี่ยนมารองรับวัตถุดิบประเภทแนฟต้าที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและความสามารถในการแข่งขันลดลง แต่แน่นอนครับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยยังมีเวลาปรับตัวอีกหลายปี เพราะไม่ได้หันมานำเข้าทีเดียวหมด แต่เป็นการทยอยลดการพึ่งพิงแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและทยอยเพิ่มปริมาณการนำเข้า
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ นักลงทุนต้องเข้าใจบริบทการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาในข้างต้นว่าแนวโน้มความสามารถในการแข่งขันใน ระยะยาวเป็นอย่างไร เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างชาญฉลาดนะครับ