posttoday

การยางฯแจง3สาเหตุปัญหาราคายางพาราร่วง

12 พฤศจิกายน 2560

การยางแห่งประเทศยันดำเนินงานตามเป้าหมายของรัฐบาล แจงปัญหาราคายางร่วงมาจาก 3 สาเหตุ

การยางแห่งประเทศยันดำเนินงานตามเป้าหมายของรัฐบาล แจงปัญหาราคายางร่วงมาจาก 3 สาเหตุ

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล ในฐานะรองโฆษกการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์ยางพารา ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม ของทุกปีเป็นช่วงที่ปริมาณยางออกสู่ตลาดสูง ทำให้ราคายางในสภาพปกติมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สำหรับปีนี้ ภาพรวมราคายางเป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาทั้งในและต่างประเทศ ปรับตัวในทิศทางเดียวกัน แต่ปัญหาราคายางขณะนี้ สาเหตุที่แท้จริงมาจาก

(1) ปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้ยางไม่สมดุลกัน ส่งผลต่อราคาขาย โดยประเทศผู้ผลิตหลักทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน แต่ราคายางในประเทศไทยยังคงสูงกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้ ยังมีประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 สูงมาก เช่น กัมพูชา เพิ่มขึ้น 33.1% อินเดีย เพิ่มขึ้น 21.0% และ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 11.3% ทำให้ผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น

(2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางเหล่านี้ รวมถึง ความตึงเครียดทางการเมืองหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อและราคาในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวนอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อราคายางของตลาดซื้อขายจริงในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

(3) การเก็งกำไรของนักลงทุนทั้งตลาดซื้อขายจริงในประเทศและตลาดล่วงหน้า กระทบต่อการซื้อขายทำให้ราคาในตลาดนั้นๆ มีความผันผวนลดลงเช่นกัน

นายสุนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.60 ในที่ประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นแรงซื้อตลาดในประเทศ ผลักดัน และพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนกับความเป็นจริง ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในประเทศ เพราะตามคาดการณ์ของที่ประชุมระหว่างประเทศ IRCo ชี้ว่าอาจมีปริมาณยางในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กองทุนนี้ ซึ่งดำเนินการภายใต้ชื่อ บจก. ร่วมทุนยางพาราไทย จะดำเนินการซื้อยางผ่านตลาดกลาง กยท. ซึ่งเป็นการซื้อขายจริง และการซื้อขายสัญญาผ่านตลาดล่วงหน้า โดยไม่มุ่งเน้นแสวงกำไร เพื่อให้ประโยชน์ของกองทุนฯ ตกอยู่ที่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น

ที่ผ่านมา บริษัทร่วมทุนฯ ทำให้ราคายางปรับตัวขึ้นในระดับหนึ่งท่ามกลางราคายางที่มีทิศทางจะปรับลดลง และเข้าไปประมูลยางในราคาที่ชี้นำ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำราคาไปอ้างอิงในการต่อรองซื้อขายกับผู้ซื้อในแหล่งอื่นๆ ได้ เช่น ผลการประมูลในวันที่ 9 – 10 พ.ย. 60 ที่ผ่านมา ราคายางมีทิศทางจะปรับลดลง บริษัทร่วมทุนฯ ได้เข้าประมูลในราคา 47.10 บาท ซึ่งหากบริษัทร่วมทุนฯ ไม่เข้าประมูล ราคายางที่พ่อค้าเสนอจะอยู่ที่ 46.39 – 46.49 บาท และในช่วงวันที่ 30 ต.ค. – 1 พ.ย. 60 ไม่มีการเข้าเสนอของบริษัทร่วมทุน ส่งผลให้ราคายางปรับตัวลงทันที 5.61 บาท บริษัทร่วมทุนได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดตั้งบริษัทโดยถือหุ้นร่วมกับภาคสถาบันเกษตรกร กยท. กำลังดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น โดย กยท. จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กระทรวงการคลังกำหนด และสำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถเข้ามาร่วมหุ้นได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละสถาบันเกษตรกร

"การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินงานบริหารจัดการภายใต้แผนการดำเนินงาน นโยบายและเป้าหมายที่รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กยท.วางไว้ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีการทำงานมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามบริบทนั้นๆ ที่สำคัญ โลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว แต่ กยท. ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้เกี่ยวข้องในวงการยางพารา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ดำเนินการมาตลอดนั้นอาจจะเห็นผลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว มุ่งหวังเพียงให้การพัฒนาวงการยางพาราทั้งระบบสามารถก้าวเดินไปอย่างมั่นคง และยั่งยืน"รองโฆษก กยท. กล่าว