ปมราคายาง ชนวนปลด ผู้ว่า กยท.
สิทธินี ห่วงนาคช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แรงกระเพื่อมจากปัญหายางพาราส่งผลให้เก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่นคลอนไม่น้อย แม้ว่าเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่ออกมาเรียกร้องจะพุ่งเป้าขอให้ปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ในฐานะกุมบังเหียน กยท.ก็ตาม
สิทธินี ห่วงนาค
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แรงกระเพื่อมจากปัญหายางพาราส่งผลให้เก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่นคลอนไม่น้อย แม้ว่าเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่ออกมาเรียกร้องจะพุ่งเป้าขอให้ปลดผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ในฐานะกุมบังเหียน กยท.ก็ตาม
อุทัย สอนหลักทรัพย์ แกนนำสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาว สวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) พร้อมแกนนำในเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้ยกเลิกการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง กยท.กับ 5 เอกชนรายใหญ่ และ ปลด ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่า กยท.จากตำแหน่งเนื่องจากเห็นว่าการทำงานไม่มี ประสิทธิภาพไม่สามารถยกระดับราคายางพาราได้จริง เกิดการเลือกปฏิบัติซื้อยางเพียงตลาดในกลุ่มของตนเองจนทำให้ เกิดการขนยางไปขายบางตลาดไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้ อุทัยในฐานะอยู่ในวงการยางพารา สะท้อนแนวคิดว่า การบริหารงานของผู้ว่า กยท.ล้มเหลวในทุกนโยบาย ทั้งการทำธุรกิจยางของ กยท.เอง ในฐานะเป็นนิติบุคคล การขายยางในสต๊อกในโครงการของรัฐจำนวน 2 แสนตัน เพราะปัจจุบันขายได้เพียง 1 แสนตัน ขณะที่อีก 1 แสนตันที่เหลือมีปัญหาในการซื้อขายระหว่างเอกชนไทยและจีน ทำให้ไม่มีการส่งมอบ
"ในเรื่องการขายยางไทย-กับเอกชนจีน พอเข้าใจว่าพ่อค้าซื้อแพงกว่าปัจจุบันยอม โดนปรับดีกว่า เราอาจจะคุมไม่ได้ แต่งาน ที่ผู้ว่า กยท. ต้องแข็งขันในการทำงาน คือ การพัฒนาศักยภาพเกษตรกร พัฒนาตลาด ต้องคิดตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไร การจะเพิ่มการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นต้องทำอย่างไร แนวทางขยายตลาดท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้ท่านทุ่มเทน้อย ไม่สมกับที่เป็นการยางฯ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นแค่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง"
อุทัย บอกว่า การตั้งกองทุนในการเข้าซื้อยางในตลาดล่วงหน้า 1,200 ล้านบาท ร่วมกับ 5 เสือ ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ ทำให้ กระทบต่อตลาดในประเทศมาก เนื่องจากยางที่มีการซื้อขายกัน ไม่เข้มงวดกับการ นำยางออกไปแปรรูป มีการอนุญาตให้กองเต็มโกดัง สุดท้ายต้องประกาศปิดตลาด กลางในหลายจุด ทำให้สะเทือนต่อความเชื่อมั่นของตลาดโลกมาก เพราะตลาดกลาง ยางพาราเปิดมาเกือบ 30 ปี ไม่เคยปิด และเมื่อเป็นอย่างนี้ เหมือนไทยส่งสัญญาณว่ายางล้น ราคายางดิ่ง กระทบปากท้องเกษตรกรนับล้านคน และสุดท้าย กยท.เองก็มาเฉลยความผิดพลาดของตนเองจากการแถลงข่าวเรื่องการคิดค่าปรับการเก็บยางในสต๊อกหากผู้ซื้อนำยางออกล่าช้า
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ว่า กยท.จะพยายาม แจกแจงการดำเนินการมาตรการของรัฐ ทั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการแปรรูป หรือสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางผลิตภัณฑ์ยาง 1.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงกรณีกองทุนซื้อยาง 1,200 ล้านบาท ซึ่งช่วง 2 เดือนใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาท ยืนยันว่ากระบวนการมีความชัดเจน และไม่เป็นภาระเรื่องสต๊อกที่คงค้างในตลาด
การแก้ลำข้อร้องเรียนของเกษตรกร จากการประชุมบอร์ด กทย.ล่าสุดวาระด่วนสั่งให้ทบทวนวิธีการเข้าตลาดของกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางให้สะท้อนความเป็นจริง ตลอดจนผ่อนปรนการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร หลังจากนี้ต้องติดตามกันว่าท้ายสุดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ควบคู่ไปกับ การรอผลการสอบสวนการทำงานของผู้ว่ากยท.หลัง พล.อ.ฉัตรชัย สั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนรู้ผลภายใน 7 วัน งานนี้คงต้องลุ้น ว่าใครจะไปก่อนใครท่ามกลางกระแสการปรับ ครม.