เปลี่ยนเบี้ยขยัน เป็นค่าผลงานดีไหม?
เรื่อง : วรธาร ภาพ : รอยเตอร์สหลายคนอาจเคยสงสัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนที่เรียกว่า "จ่ายค่าเบี้ยขยัน"
เรื่อง : วรธาร ภาพ : รอยเตอร์ส
หลายคนอาจเคยสงสัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนที่เรียกว่า "จ่ายค่าเบี้ยขยัน"
หากถามใครที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ก็คงต้องตอบว่าเพื่อจูงใจให้พนักงานทั้งหลายทำงานตามเป้าหมาย หรือบางคนก็อาจจะตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ก็เพื่อต้องการให้พนักงานขยันทำงานยังไงล่ะ
ครั้นจะถามต่อว่า ถ้าไม่จ่ายเบี้ยขยันแล้วพนักงานจะไม่ขยันทำงานใช่หรือไม่? ถ้าไม่จ่ายค่าเบี้ยขยันแล้วพนักงานจะไม่มีแรงจูงใจทำงานใช่หรือไม่?
ถ้าอย่างนั้นบริษัทไม่ได้รับคนขยัน หรือไม่ได้รับคนที่มีแรงจูงใจเข้ามาทำงานตั้งแต่แรกหรือ พูดง่ายๆ ก็คือบริษัทรับแต่คนที่ขี้เกียจหรือขาดแรงจูงใจเข้ามาทำงาน จนทำให้บริษัทต้องมาจ่ายเบี้ยขยันหรือ แล้วทำไมบริษัทจึงมีนโยบายในการรับคนแบบนี้เข้ามาทำงาน แล้วต้องจ่ายเบี้ยขยันกันแบบนี้ด้วยล่ะ
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ วิทยากรและที่ปรึกษาด้าน HR กล่าวว่า ถ้าตั้งคำถามเช่นนี้มีแต่จะชวนให้วงแตก พนักงานลูกจ้างคงนึกด่าคนตั้งคำถามที่อาจจะทำให้เขาไม่ได้รับเบี้ยขยันอีกต่อไป ฝ่ายนายจ้างอาจจะคิดว่าก็จ่ายอย่างนี้มาตั้งนานแล้วไม่เห็นมีปัญหาอะไร แล้วจะพูดให้เป็นปัญหาขึ้นมาทำไมก็เป็นได้
"ไม่ว่าฝ่ายไหนจะคิดอย่างไร ผมอยากให้ทุกฝ่ายได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า หลายครั้งเรามักยึดติดสิ่งที่เคยทำมานานตั้งแต่อดีตและทำแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนเป็นความยึดติดโดยไม่เคยกลับมาคิดทบทวนว่าสิ่งที่ทำมานั้นทำเพื่ออะไร และปัจจุบันควรจะปรับปรุงหรืออัพเดทเรื่องที่เคยทำมาให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันบ้างหรือยัง หรือที่ทำไปเพราะเคยทำกันมาเลยทำต่อไป ไม่ต้องไปคิดไปปรับปรุงแก้ไขอันเดิมก็ดีอยู่แล้ว"
ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของเบี้ยขยันนั้นถ้าหากมองในมุมของคนที่ต้องดูแลเรื่องค่าตอบแทนอย่างเป็นกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แล้วอยากตั้งข้อสังเกตชวนให้คิดกันอย่างนี้
1.บ่อยครั้งที่พบว่าบริษัทที่จ่ายค่าเบี้ยขยันมักจ่ายเงินเดือนพนักงานต่ำกว่าตลาด เลยต้องมีเงินค่าตอบแทนตัวอื่นมาจ่ายเพิ่มให้พนักงาน ซึ่งมักเรียกเงินตัวนี้ว่า "เบี้ยขยัน" ตามกันมา ซึ่งค่าเบี้ยขยันนี้ไม่รวมในฐานเงินเดือนจะได้ไม่นำไปใช้ในการคำนวณโอที โบนัส ค่าชดเชย ฯลฯ
ขอให้นายจ้างรู้ไว้ว่า ถ้าการจ่ายเบี้ยขยันไม่ใช่การจ่ายเพื่อการจูงใจในการทำงานของลูกจ้างอย่างแท้จริง แล้ว เบี้ยขยันก็มีโอกาสถูกตีความเป็นค่าจ้าง ซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณในการจ่ายโอที ค่าชดเชย ดังนั้นอย่าคิดว่าเบี้ยขยันไม่ใช่ค่าจ้างอย่างที่เขาว่าเสมอไป
2.หลักในการจ่ายค่าเบี้ยขยันมักจะมาผูกไว้กับเรื่องการมาทำงานว่า พนักงานต้องป่วย สาย ลา ขาดไม่เกินที่บริษัทกำหนด ซึ่งก็น่าแปลกที่ว่าบริษัททำไมต้องมาจูงใจให้พนักงานมาทำงานตรงเวลาด้วยการจ่ายเงินค่าเบี้ยขยันด้วย แสดงว่าตั้งแต่ตอนรับพนักงานเข้ามาบริษัทไม่ได้ต้องการรับคนมาทำงานตรงเวลาเข้ามาหรือ ถึงต้องมาจูงใจให้มาทำงานตรงเวลาด้วยการจ่ายค่าเบี้ยขยัน?
หรือเรื่องการขาดงานก็เช่นเดียวกัน ถ้าดูหลักในการจ่ายแบบนี้ย่อมขัดแย้งในตรรกะของการจ่ายเงินแบบจูงใจ เพราะการมาทำงานตรงเวลาหรือการไม่ขาดงานเป็นสิ่งที่พนักงานที่ดีควรจะปฏิบัติอยู่แล้วไม่ใช่หรือ
3.ที่กล่าวมาข้างต้น เพราะมองว่าเบี้ยขยันควรเป็นเงินที่จ่ายเพื่อจูงใจพนักงานให้ทำงานได้ดีกว่ามาตรฐานที่บริษัทกำหนด เช่น สมมติว่าพนักงานเคยผลิตสินค้าได้วันละ 10 ชิ้นตามมาตรฐาน แต่ถ้าคนไหนสามารถทำได้ 11 12 13 14 ฯลฯ ชิ้น พนักงานคนนั้นก็จะได้เงินเพิ่มจากผลงานที่ทำได้เกินมาตรฐานชิ้นละกี่บาท เป็นต้น
ส่วนการมาทำงานตรงเวลา ไม่มาสาย หรือเรื่องที่พนักงานต้องไม่ขาดงาน อู้งานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติที่พนักงานที่ดีควรต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ถ้าใครมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ต้องไปว่ากันด้วยการตักเตือนหรือให้คุณให้โทษกันตามวินัยข้อบังคับการทำงาน ไม่น่าจะมาเป็นการจ่ายเงินเป็นพิเศษอะไรให้ เพราะพนักงานไม่มาสาย ไม่ขาดงาน
4.บริษัทควรหันกลับมาทบทวนโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนเสียใหม่ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงในการแข่งขันในตลาด เช่น ควรจะกำหนดเงินเดือนเริ่มต้นตามตำแหน่งต่างๆ ที่เท่าไร บริษัทควรจะมีเงินค่าตอบแทนตัวอื่นนอกเหนือจากเงินเดือน (เช่น ค่าครองชีพ ค่าตำแหน่ง ค่าภาษา ค่าวิชาชีพ รวมไปถึงค่าเบี้ยขยันที่พูดถึงกันในวันนี้) เป็นเท่าไร และมีสัดส่วนเป็นเท่าไรดี ถึงจะเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้
5.ค่าเบี้ยขยันนั้น ถ้าบริษัทจะปรับเปลี่ยนหลักการหรือรูปแบบการจ่ายจากเดิมมาเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานให้เกินกว่ามาตรฐานที่บริษัทกำหนด ตามที่แนะนำไว้ในข้อ 3 ก็อาจเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ เช่น เรียกเป็น "ค่าผลงานเหนือมาตรฐาน" หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า "ค่าผลงาน" ก็น่าจะดีกว่าเรียกว่า "เบี้ยขยัน"
เนื่องจากไม่ได้ต้องการให้พนักงานขยันมาทำงานตรงเวลาหรือไม่ขาดงาน (เพราะคนขยันไม่ได้แปลว่าจะมีผลงานดีเสมอไป) เพียงประการเดียว แต่เราต้องการให้พนักงานพัฒนาตัวเองให้มีฝีมือมีผลงานที่ดีมากขึ้นไม่ใช่หรือ
"ผมเชื่อว่าการจุดประเด็นในเรื่องนี้ คงจะทำให้มีผู้บริหารหรือคนที่ทำงานด้าน HR ที่คิดอะไรได้ดีกว่าที่ผมคิด จะนำไปคิดต่อและปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับบริษัทของท่าน เพื่อให้ดีขึ้นต่อไปครับ" ธำรงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย n