ครม.เห็นชอบร่างกม.ความรับผิดต่อความชำรุด-บกพร่องของสินค้า
ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เพื่อกำหนดนิยามและสิทธิผู้บริโภคให้ชัดเจน
ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เพื่อกำหนดนิยามและสิทธิผู้บริโภคให้ชัดเจน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า จะอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะที่มาดูแลในเรื่องนี้ และที่ผ่านมาในอดีตสินค้าไม่มีความสลับซ้ำซ้อนเหมือนปัจจุบัน เช่น รถยนต์หรือโทรศัพท์มือถือ ที่ต้องใช้ไปก่อนระยะหนึ่งจึงจะเห็นว่าสินค้าผิดปกติ จึงมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา
สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ 1.กำหนดให้ผู้บริโภคเช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ ยกตัวอย่าง ในกรณีคนที่ซื้อสินค้าโดยชำระเป็นเงินผ่อนกับธนาคาร เช่น รถยนต์ ชื่อของรถยังเป็นของธนาคารอยู่ แต่เวลามีปัญหา ผู้ใช้รถไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ และสถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิจะต้องโอนสิทธิทั้งหลายให้แก่ผู้บริโภคเพื่อที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นเพียงผู้ใช้สินค้าจะได้มีสิทธิเรียกร้องกับผู้ค้าได้โดยตรง
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดความหมายของสินค้าชำรุดบกพร่องให้ชัดเจน
1. สินค้าที่แตกต่างไปจากข้อตกลงที่ปรากฎในสัญญา แตกต่างจากวัตถุประสงค์ในการนำสินค้าใช้ แตกต่างจากการใช้ประโยชน์ในสินค้าตามปกติ หรือแตกต่างจากคุณสมบัติปกติของสินค้าในท้องตลาด
2. ความชำรุดบกพร่องของสินค้าเกิดจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจ เกิดจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าตามคู่มือการติดตั้ง หรือการส่งมอบสินค้าผิดประเภท หรือน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้
3. สิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจในสินค้าที่ซื้อมาชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคมีสิทธิให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้า หรือสามารถขอบอกเลิกสัญญา หรือลดราคาสินค้า และสามารถเรียกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีบทยกเว้นความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ในกรณีที่ผู้บริโภครู้อยู่แล้วว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง เช่น กรณีนำมาขายลดราคา หรือเป็นสินค้าที่มาจากการทอดตลาดตามคำบังคับของศาล และกำหนดบทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง หากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งมอบ เช่น รถยนต์เสียภายใน 6 เดือน ให้สันนิษฐานว่าบกพร่องมาจากโรงงานไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้พิสูจน์ว่าสินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่อง และมีอายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคได้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้า
"ขณะนี้ยังเป็นเพียงร่าง พ.ร.บ.จะต้องผ่านกฤษฎีกา และอาจจะต้องระบุรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ระยะเวลา 6 เดือนคงไม่ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท สินค้าบางชนิดไม่มีความซับซ้อนอาจจะให้เวลาน้อยกว่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลเสียมากเกินไป"นายณัฐพร กล่าว