โดรนเพื่อการเกษตร ร่วมสร้าง 'สมาร์ทฟาร์ม'
"โดรนเพื่อการเกษตร" เทคโนโลยีใหม่สำหรับการใช้งานในการทำเกษตร จากการคิดค้นโดยคนไทย
โดย วราภรณ์ เทียนเงิน
"โดรนเพื่อการเกษตร" เทคโนโลยีใหม่สำหรับการใช้งานในการทำเกษตร จากการคิดค้นโดยคนไทย จึงจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรของประเทศไทยปรับสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์ม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่สนใจสินค้านำไปทำตลาดในญี่ปุ่นแล้ว
"มนตรี ธนะสิงห์" เจ้าของบริษัท ไลลา เอวิเอชั่น ผู้พัฒนาอากาศยาน ไร้คนขับเพื่อการเกษตร (โดรน) เปิดเผยว่า ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อากาศยานไร้คนขับสำหรับการใช้งานในภาคการเกษตร (Unmanned Aerial Vehicle) หรือ ยูเอวี (UAV) ที่สามารถนำมาใช้กับการพ่นของเหลว ทั้งปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร และการพ่นของเหลวต่างๆ ได้ จึงส่งผลในการช่วยปรับการทำเกษตรจากแบบเดิมไปสู่การทำเกษตรแบบใหม่ (สมาร์ทฟาร์ม) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการฟาร์ม ซึ่งบริษัทถือเป็นผู้พัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรรายแรกๆ ในประเทศไทย
"อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร" หรือ โดรน ถือเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ออกแบบโครงสร้างของลำตัวเครื่องที่มีน้ำหนักเบา ใช้วัสดุคอมโพสิตทำ ให้มีความแข็งแรงและมีวัสดุมีการป้องกันการกัดกร่อนจากสารเคมีต่างๆ พร้อมกับมีระบบควบคุมการบินอัตโนมัติที่ใช้ระบบการป้องกันการทำงาน ด้วยจีพีเอส 3 ชั้น ซึ่งเทคโนโลยีของบริษัทสามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนรายอื่นๆ ในตลาดต่างประเทศได้อย่างแน่นอน
"ก่อนหน้านี้ ผมได้ทำโรงงานบังคับวิทยุมาก่อนเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่การแข่งขันในตลาดมีสูง ประกอบกับนโยบายของภาครัฐบาลที่ส่งเสริมด้านการเกษตร 4.0 ทำให้สนใจต่อยอดขยายธุรกิจมาทำโดรนเพื่อภาคการเกษตรอย่างเต็มที่" มนตรี กล่าว
สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็น ทั้งภาคการเกษตร จึงเหมาะกับการทำฟาร์ม การเพาะปลูกพืช ในสวนและการทำไร่ การปลูกพืชไร่ ไร่อุง่น รวมถึงกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าว เป็นต้น โดยในปัจจุบันในไทยมีการพื้นที่การทำเกษตรมากกว่า 150 ล้านไร่
ทั้งนี้ จากการที่บริษัทได้ออกแบบการใช้งานที่แตกต่าง ทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศในระดับสูง โดยมีกลุ่มลูกค้าเอกชนขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นสนใจนำโดรนของบริษัทไปทำตลาดในญี่ปุ่น เนื่องจากจุดเด่นในการใช้งาน มีต้นทุนในการผลิตที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับแบรนด์ของญี่ปุ่น แต่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงมาก ซึ่งราคาของโดรนบริษัทจะอยู่ในระดับหลักแสนบาท แต่ของแบรนด์ญี่ปุ่นจะอยู่ในระดับล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโดรนในระยะต่อไป (เฟส) ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคการเกษตร ทั้งตลาดในไทยและการผลักดันส่งออกสินค้าไปสู่ตลาด ต่างประเทศ โดยสนใจตลาดทั้งในญี่ปุ่น เวียดนาม เมียนมา และลาว ส่วนช่องทางจำหน่ายสินค้าในประเทศ จะผ่านทั้งตัวแทนในกรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี เชียงใหม่ และเพชรบุรี ซึ่งการให้บริการจะมีทั้งการให้เช่าอุปกรณ์ หรือการเปิดขายโดรน ซึ่งจะมีอัตราค่าบริการอยู่ที่ไร่ละ 150 บาท
"มนตรี" กล่าวต่อว่า จากการ ใช้งานของเครื่องที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีกลุ่มลูกค้าในประเทศให้การตอบรับที่ดีต่อเนื่อง โดยมีความมั่นใจว่าโดรนเพื่อการเกษตรยังจะช่วย ผลักดันเกษตรกรไทยเข้าสู่ การเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ และเกษตร 4.0 ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง