posttoday

ออกญาแห่งเมืองกัมพูชาธิบดี

30 พฤศจิกายน 2560

กรกิจ ดิษฐานวันที่ 22-24 พ.ย.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ ร่วมกับบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (เอพีเอ็ม) ได้นำคณะนักธุรกิจไทยเยือนถิ่นเศรษฐกิจพนมเปญ โครงการ "CLMVT ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก" ซึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมงานนี้มาด้วย

กรกิจ ดิษฐาน

วันที่ 22-24 พ.ย.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ ร่วมกับบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (เอพีเอ็ม) ได้นำคณะนักธุรกิจไทยเยือนถิ่นเศรษฐกิจพนมเปญ โครงการ "CLMVT ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก" ซึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมงานนี้มาด้วย

ไปเมืองเขมรคราวนี้ไปทำงานเจอระดับวีไอพีพอสมควร แต่ละคนมียศมีตำแหน่งรุงรังดีแท้ เพราะช่วงหลังฮุนเซนเล่นขายบรรดาศักดิ์หาเงินเข้าหลวง (หรือเปล่า?) โดยเฉพาะบรรดาศักดิ์ "ออกญา" มีกันเกลื่อน นับประมาณ 700 คนเห็นจะได้ ขอให้เป็นกุฎุมพีมีทรัพย์แล้วช่วยเหลือบ้านเมืองก็เป็นออกญากับเขาได้แล้ว ในงานที่ผมไปมีนักธุรกิจหญิงท่านหนึ่งเป็นออกญากับเขาเหมือนกัน ซึ่งแปลกดีเพราะไม่เคยได้ยินว่าผู้หญิงก็ได้บรรดาศักดิ์นี้กับเขาด้วย แต่เธอเป็นเศรษฐินีใหญ่ฐานะก็สมกับที่จะได้อยู่ตามข้อกำหนดของอัครมหาเสนาบดี

ทุกวันนี้ ท่านสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน กำหนดไว้ว่า กุฎุมพีมีทรัพย์ท่านใดทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองด้วยการบริจาคทรัพย์สิน จะได้บรรดาศักดิ์ออกญามาประดับบารมี แต่ตัวเงินบริจาคนั้นต้องอยู่ระหว่าง 1-5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ใครสู้ไหวก็ลองดูเอาเถิด

คนเดินดินอย่างผมมีปัญญาแค่ศึกษาที่มาของศัพท์ออกญา เพราะสงสัยว่ามันมีที่มาอย่างไร?

ผมลองตรวจพจนานุกรมฉบับสมเด็จพระสังฆราช (ชวน ณาต) เห็นบรรดาศักดิ์ออกญา () มีที่มาคลุมเครือ ท่านว่ามาจากคำว่า "อก" หรือ "อุก" แปลว่า ควบคุมดูแล กับคำว่า "ญา" แปลว่ารู้ หมายถึงผู้ตรวจตรารับรู้กิจการในกระทรวงต่างๆ บ้างก็แปล "อก" ว่าหมายถึงพระพรหมพระอิศวร ส่วน ญา หมายถึงรู้ แปลว่า "ผู้รู้การเคารพพระพรหมพระอิศวร" ชะรอยว่าความหมายนี้จะส่อถึงสถานะพรามหณ์ปุโรหิตกระมัง? นอกจากนี้ยังมีความหมายอื่นๆ อีกจาระไนกันไม่ไหว

สมเด็จพระสังฆราช (ชวน ณาต) ท่านรู้หลายภาษา จึงสาวรากคำออกญาในภาษาไทยด้วย ท่านว่า ในภาษาไทยเขียนต่างจากขแมร์ที่เขียนว่า (อุก แต่อ่านว่า อก) แต่ไทยเขียน อก () อ่านว่า ออก และน่าจะมาจากคำว่า "พ่อออก แม่ออก" คำคำนี้ในภาษาไทยภาคกลางไม่ใช้แล้ว แต่ยังมีในภาษาลาว และภาษาคำเมือง แปลว่าโยมอุปัฏฐาก ทว่าท่านไม่ได้อธิบายต่อเรื่องออกญาไทยว่าประกอบด้วยศัพท์อะไร

ไทยเรารับมาจากเขมรนั่นเอง จึงไม่จำเป็นต้องไปหารากคำจากไหน อย่างไรก็ตาม ไทยเราไม่น่าจะรับเขมรมาทั้งหมด และเขมรเองก็น่าจะรับจากไทยด้วย ดังลำดับศักดินาของเขมร หรือ "นาหมื่น นาแสน" ( ออกเสียงว่า เนียเมิน เนียแซน แต่มาจากภาษาไทยนี่แหละครับ) เริ่มที่ออกญา พญา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน จบที่ตำแหน่ง นาย

นายบรรดาศักดิ์ทั้ง 8 นี้ คำว่า ออกญา เป็นคำเขมร คำว่าพญา เป็นกึ่งเขมรกึ่งมอญ ที่แน่ๆ เป็นภาษามอญแล้วไทยรับมาอีกต่อหนึ่ง แต่ไม่แน่ชัดว่าไทยได้ส่งต่อไปยังเขมร หรือเขมรมีคำนี้อยู่แล้ว

ส่วนคำว่า "พระ" เป็นคำกลางๆ ในภาษาเขมรออกเสียงเป็น "เปรียะ"

แต่คำว่าหลวง ขุน หมื่น พัน นาย เป็นคำไทย และเขมรรับไปจากไทยแน่ๆ

นี่คงเป็นอีกตัวอย่างของการถ่ายกันกลับไปกลับมาระหว่างเขมร-ไทย

ในบรรดาศักดิ์ชั้นออกญาเขมร ก็ยังมีการแบ่งชั้นตามลำดับดังนี้ โลกนักออกญา () นักออกญา () และออกญา () โดยเมื่อเทียบกับ พญา มีตามลำดับคือสมเด็จเจ้าพญา เจ้าพญา และพญา ซึ่งชั้นและข้าราชการในเหล่า เรียกว่า "สำรับ" แบ่งเป็น สำรับเอก โท ตรี จัตวา มีศักดินากำกับเรียกว่า "พัน" () คำว่า "พัน" เป็นคำไทยแปลว่า 1,000 เพราะเลขเขมรนั้นพอเลยหลัก 30 แล้ว ยืมเลขไทยไปช่วยนับด้วย ซึ่งพิกลมาก เช่น ร้อย (/โรย) พัน (/ปอน) หมื่น (/เมิน) แสน (/แซน) และล้าน (/เลียน)

อย่างชื่อสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน คำว่า เซน ที่จริงต้องออกเสียงว่า แซน มาจากคำว่า แสนในภาษไทยนั่นเอง

กลับมาทิ้งท้ายกันที่เรื่องบรรดาศักดิ์ เดิมนั้นออกญามีไม่มาก ลำดับบนแค่ 4 ท่าน คือออกญายมราช กินเมืองตร็วง ออกญาวัง กินเมืองตโบงฆมุม ออกญากลาโหม กินเมืองบาพนม ออกญาจักรี กินเมืองโพธิสัตว์ ลำดับล่างประจำกรมต่างๆ มีไม่เกินกรมละ 10 ท่าน

สรุปคือระบบศักดินาเขมรคล้ายๆ ไทยแต่มีชั้นต่างออกไป ออกญาน่าจะเทียบได้กับเจ้าพระยา ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมจตุสดมภ์ (ยุคหลัง) ส่วน พญาหรือพระยา ก็เท่ากับพระยาของเรานั่นเอง

ระบบศักดินา (นาหมื่น นาแสน) ของเขมรนั้นสนุกดี เพราะทำให้รู้จักวัฒนธรรมเราเองมากขึ้นด้วย แต่ผมคงเขียนเรื่องเขมรเพียงแค่นี้ ต่อไปจะเขียนเรื่องจีน จาม สยาม ลาวบ้างแล้ว n

Thailand Web Stat