สงครามลำโพงอัจฉริยะ
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)ใกล้ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่แล้ว ผู้คนต่างกำลังหาซื้อของขวัญให้ญาติพี่น้อง เมื่อเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าสมัยนี้แกดเจ็ตอะไรบ้างที่ผู้คนต้องการได้รับเป็นของขวัญ จะพบผลิตภัณฑ์กลุ่มหนึ่งที่ติดทุกโผ นั่นคือ Smart Speaker หรือลำโพงอัจฉริยะ
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ใกล้ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่แล้ว ผู้คนต่างกำลังหาซื้อของขวัญให้ญาติพี่น้อง เมื่อเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าสมัยนี้แกดเจ็ตอะไรบ้างที่ผู้คนต้องการได้รับเป็นของขวัญ จะพบผลิตภัณฑ์กลุ่มหนึ่งที่ติดทุกโผ นั่นคือ Smart Speaker หรือลำโพงอัจฉริยะ
ลำโพงอัจฉริยะ เป็นลำโพงไร้สายที่เราสามารถสั่งงานด้วยเสียง ไม่ใช่แค่สั่งเล่นเพลงที่ต้องการ แต่รวมถึงสั่งซื้อของ สั่งเปิดปิดไฟ ปรับอุณหภูมิในบ้าน เรียกแท็กซี่ ถามข้อมูลลมฟ้าอากาศ เช็ก อีเมล ตารางนัดหมาย โต้ตอบ เล่นเกม ทำได้ทุกอย่างเสมือนกับเป็นเลขา ไม่ใช่สิ น่าจะเรียกว่า แม่บ้านอัจฉริยะ แม้ว่าจะยังทำอาหารให้กินไม่ได้ แต่สามารถสั่งพิซซ่าให้เราได้
Amazon Echo เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มลำโพงอัจฉริยะที่ออกวางขายครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ถัดมาอีกหนึ่งปีจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์คู่แข่ง นั่นคือ Google Home สองค่ายนี้ต่อสู้กันอย่างหนัก และได้ออกผลิตภัณฑ์หลายรุ่น เช่น ลำโพงขนาดเล็ก (Echo Dot และ Home Mini) หรือลำโพงที่มีจอ (Echo Show) โดยการเพิ่มความ "อัจฉริยะ" ให้กับผลิตภัณฑ์
Google ดูเหมือนจะได้เปรียบในแง่ที่มี "สมอง" ที่จัดเก็บข้อมูลความรู้ทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตไว้อย่างเป็นระบบ เรียกว่าถามอะไรก็ตอบได้หมด ในขณะที่ Amazon ก็ได้เปรียบในฐานะที่เป็นร้านขายของอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ผงซักฟอกหมด กาแฟหมด ก็สั่งซื้อกับ Echo ได้เลยไม่ต้องเข้าเว็บเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตให้เสียเวลา
ความสามารถอื่นนอกจากนั้น เช่น เรียกแท็กซี่ จองโรงแรม เปิด-ปิดไฟบ้าน ต้องอาศัยการสร้างพันธมิตรกับผู้ให้บริการต่างๆ ซึ่งใครมีพันธมิตรมากกว่าก็จะมีบริการที่หลากหลายกว่า
นอกเหนือจาก Amazon และ Google แล้ว คู่แข่งรายใหม่ที่กำลังจะเข้าตลาด (ช้ากว่ารายแรกถึง 2 ปีครึ่ง) ก็คือ Apple Home Pod ซึ่งมีกำหนดวางขายต้นปี 2561 และสนนราคาขายที่ประกาศก็สูงถึง 349 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าราคาของ Echo (100 ดอลลาร์) และ Home (80 ดอลลาร์) 3-4 เท่าตัว ในขณะที่สเปกและความสามารถก็ไม่ต่างกันมากนัก
เป็นที่น่ายินดีว่าบริษัท แสนสิริ ของไทยก็ได้เปิดตัวลำโพงอัจฉริยะในชื่อ A.I.Box ที่สามารถโต้ตอบด้วยภาษาไทย และจะนำร่องให้บริการเกี่ยวกับความสะดวกสบายของลูกบ้านแสนสิริในปี 2561
ลำโพงอัจฉริยะนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการผสมผสานเทคโนโลยีหลายด้านเข้าด้วยกัน นอกเหนือจากเทคโนโลยีการตรวจจับเสียงพูดจาก ระยะไกลได้ (โดยไม่ต้องกดปุ่มก่อนพูด เหมือนบนสมาร์ทโฟน) ยังต้องมีเทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติขั้นสูง ที่สามารถฟังคนที่พูดด้วยเสียงและสำเนียงแตกต่างกันแล้วแปลงเป็นข้อความคำสั่ง แถมยังโต้ตอบกลับด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนกำลังคุยกับมนุษย์ และยังต้องมีส่วนที่เชื่อมต่อกับระบบ Internet of Things (IoT) เพื่อควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านด้วย
เมื่อพูดถึง IoT ปัจจุบันมีอุปกรณ์ Smart Home ในตลาดหลายร้อยยี่ห้อ ผู้ใช้เริ่มประสบปัญหาว่าต้องลงแอพพลิเคชั่นเยอะแยะไปหมดสำหรับอุปกรณ์แต่ละยี่ห้อในบ้าน จะเปิดไฟต้องใช้ แอพนี้ จะปรับอุณหภูมิต้องเปิดอีกแอพ เจ้าลำโพงอัจฉริยะนี้นับว่าวางตัวอยู่ในจุดที่พอเหมาะพอดีในการแก้ปัญหานี้ เพราะไม่ว่าบ้านจะมีอุปกรณ์ IoT กี่ตัวกี่ยี่ห้อก็สามารถสั่งงานทุกอุปกรณ์ด้วยเสียงได้ เสมือนมี Universal Remote ล่องหนอยู่ในห้อง
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากสะกิดบอกคนที่บ้านว่า ช่วยซื้อ Echo หรือ Home เป็นของขวัญปีใหม่ให้หน่อย นอกจากจะได้อินเทรนด์กับนวัตกรรมระดับโลกแล้ว การคุยกับเจ้าลำโพงนี้ทุกวันยังช่วยฝึกการสื่อสารภาษาอังกฤษไปในตัวด้วย n