‘เต่ามะเฟือง’ ดัชนีชี้ขยะในทะเล
ข่าวเล็กๆ ที่มีกระแสความสนใจไม่มากนัก อย่างกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โดย ธเนศน์ นุ่นมัน
ข่าวเล็กๆ ที่มีกระแสความสนใจไม่มากนัก อย่างกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่เดินเท้าสำรวจชายหาดในพื้นที่อุทยานเป็นกิจวัตร และบันทึกว่าไม่พบเห็น "เต่ามะเฟือง" ขึ้นมาวางไข่เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมของทะเลไทยและลามไปไกลถึงมหาสมุทรทั่วโลก ประเทศไทยเคยมีประชากรเต่ามะเฟืองจำนวนมาก ถึงขนาดเคยมีการเปิดสัมปทานไข่เต่าช่วงก่อนปี 2518 แต่ปัจจุบันกลับไม่หลงเหลือมาวางไข่ให้เห็น
ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขยายความเรื่องนี้ว่า เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลหายากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน บัญชี 1 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สถานการณ์ปัจจุบันของเต่ามะเฟืองค่อนข้างวิกฤต ในระดับใกล้จะสูญพันธุ์ โดยจากที่กรมอุทยานฯ ได้สำรวจและติดตามการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองในสองอุทยานแห่งชาติที่มีประชากรเต่ามะเฟืองมากที่สุด คือ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา กับอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล
เดิมจากที่ได้สำรวจและติดตามเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปี 2546-2556 บริเวณหาดท่านุ่น หาดเขาปิหลาย หาดโคกกลอย และหาดท้ายเหมือง พบการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟือง 28 รัง จำนวนไข่เต่าทะเลทั้งหมด 2,678 ฟอง จำนวนลูกเต่าที่ฟักได้ 1,574 ตัว
"โดยปกติเต่าทะเลเป็นสัตว์นักเดินทางและไม่ได้เดินทางแบบสุ่มเดา แต่สามารถจดจําเส้นทางการเดินทางได้เป็นอย่างดี โดยปกติเต่ามะเฟืองจะวางไข่ที่เดิม เพราะมีความทรงจำในพื้นที่และจดจำสภาพทางเคมีของน้ำได้ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากถึงฤดูวางไข่ก็จะกลับมายังหาดเดิมทุกครั้ง วางไข่เสร็จแล้วก็จะหายไปราว 1-3 ปี แล้วจึงกลับมาอีกครั้ง แต่ปัจจุบันหายตัวไปแล้วกว่า 4 ปี ยังไม่กลับมา ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ" ธัญญา กล่าว
ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า โดยปกติเต่ามะเฟืองจะเข้ามาวางไข่ตามชายหาดที่มีลักษณะชัน เนื่องจากมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก จึงไม่สามารถวางไข่ตามหาดที่มีแนวปะการังได้ หาดที่เต่ามะเฟืองมาวางไข่ในเมืองไทยทั่วประเทศมีไม่ถึง 10 แห่ง ปัจจุบันน่าจะเหลือเพียง 4-5 แห่ง เพราะจำนวนหนึ่งที่ถูกพัฒนาไปเป็นชายหาดท่องเที่ยว จึงไม่มีเต่ามาวางไข่อีกเลย แต่หาดที่วางไข่เป็นประจำในอดีตที่ผ่านมาและยังมาได้จนถึงในปัจจุบัน คือหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต และหาดท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยาน
รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ไม่พบเต่ามะเฟืองนั้นน่าจะมีหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น พบว่าปริมาณเต่ามะเฟืองทั้งโลกลดน้อยลง ในอดีตช่วงปี 2523 มีรายงานการวางไข่มากกว่าแสนรังต่อปี แต่ในยุคปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 4 หมื่นรัง ประกอบกับการทำประมงในโลกที่มีมากขึ้น และเรือจำนวนมากมีศักยภาพขยายพื้นที่ไกลขึ้น เต่ามะเฟืองซึ่งมีพื้นที่หากินกว้างกว่าเต่าทะเลชนิดอื่น จึงอาจติดเครื่องมือประมงจนมีประชากรลดลง รวมถึงการทำประมงในน่านน้ำไทยมีมาก ทำให้เต่ามะเฟืองว่ายมาไม่ถึงหาด อาจติดเครื่องมือประมงก่อนถึงฝั่ง รวมถึงมีการสัญจรทางเรือมากขึ้น เต่าอาจถูกเรือชน มีรายงานว่าพบเต่าทะเลถูกเรือชนตายทุกปี
ผศ.ธรณ์ ระบุด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่สุดซึ่งน่าจะเป็นการทำลายประชากรเต่าให้ลดลงเป็นจำนวนมาก นั่นคือปัญหาขยะ โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่กระจัดกระจายอยู่ในท้องทะเลและมหาสมุทรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ยิ่งกลายเป็นปัจจัยที่กระทบต่อชีวิตสัตว์ทะเลโดยเฉพาะเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ เป็นเพราะเต่าทั้งหลายมักจะกินถุงพลาสติก เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุน ซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติ ปัจจุบันมีถุงพลาสติกหลายหมื่นล้านใบอยู่ในทะเล ถุงพลาสติกเพียง 3-4 ใบ ที่ถูกกลืนลงท้องนั้นสามารถฆ่าแม่เต่าได้ 1 ตัว
กรณีที่เต่ามะเฟืองหายไปจึงอาจจะเป็นภาพสะท้อน เป็นดัชนีชี้วัดปัญหาเรื้อรังที่ท้องทะเลไทยและมหาสมุทรทั่วโลกสั่งสมไว้เป็นอย่างดี