ความฝันอุโมงค์ แม่ฮ่องสอน
กุลฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา (kulachatrakul@gmail.com)Chief Marketing Officer บริษัท มาร์เก็ตติ้งไดอ็อกไซด์ จำกัดผมเคยขับรถผ่าน 1864 โค้งไป จ.แม่ฮ่องสอนมา แล้วถึงสามครั้ง ทั้งทาง อ.ปาย และทางแม่สะเรียง หากเดินทางไปเพื่อการท่องเที่ยว ก็ชิลชิลไม่มีอะไร แต่ถ้าหากไปทำงานก็คิดหนักหน่อย ถ้าไปทางรถยนต์จะต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 1 วันแบบไม่เหนื่อย ถ้าขึ้นเครื่องก็หวาดเสียวหน่อยเพราะเครื่องบินเล็กและไม่ค่อยมีไฟลต์ให้ไปอย่างใจต้องการ ผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวลัดเลาะไปมาถึง 300 กิโลเมตร (กม.) ใน 6 ชั่วโมง หน้าฝนก็เสี่ยงต่อดินสไลด์และถนนลื่น
กุลฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา (kulachatrakul@gmail.com)Chief Marketing Officer บริษัท มาร์เก็ตติ้งไดอ็อกไซด์ จำกัด
ผมเคยขับรถผ่าน 1864 โค้งไป จ.แม่ฮ่องสอนมา แล้วถึงสามครั้ง ทั้งทาง อ.ปาย และทางแม่สะเรียง หากเดินทางไปเพื่อการท่องเที่ยว ก็ชิลชิลไม่มีอะไร แต่ถ้าหากไปทำงานก็คิดหนักหน่อย ถ้าไปทางรถยนต์จะต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 1 วันแบบไม่เหนื่อย ถ้าขึ้นเครื่องก็หวาดเสียวหน่อยเพราะเครื่องบินเล็กและไม่ค่อยมีไฟลต์ให้ไปอย่างใจต้องการ ผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวลัดเลาะไปมาถึง 300 กิโลเมตร (กม.) ใน 6 ชั่วโมง หน้าฝนก็เสี่ยงต่อดินสไลด์และถนนลื่น
นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเจริญเติบโตของ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้มีแนวคิดมานานแล้วว่าจะขุดอุโมงค์และถนนจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอนผ่านทาง อ.กัลยาณิวัฒนา แต่ก็เงียบไป
เหริน ยี่เซิน กงศุลกิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำ จ.เชียงใหม่ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจาะอุโมงค์เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง จ.เชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน ในงานสถาปนาคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่เมื่อ วันที่ 24 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ว่าแนวคิดเรื่องการเจาะอุโมงค์ภูเขาที่กั้นเขตแดนระหว่างทั้งสองจังหวัดนั้นมีมานานแล้วถึง 20 ปี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองจังหวัดและยังความเจริญสู่ประเทศเมียนมาด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางของความคืบหน้าและไม่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ในความเห็นของกงศุลจีน มีแนวคิดที่ว่า หากเปิดประเทศด้วยการสร้างถนนให้เชื่อมโยงกันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อย่างมาก ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และการค้าชายแดน รวมไปถึงการเชื่อมโยงทางถนนไปจนถึงกรุงเนย์ปิดอว์ของเมียนมา และการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อไปถึงตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นโดยรวม ประเทศจีนกับไทยมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานหากมีความต้องการให้ช่วยเหลือทางรัฐบาลจีนก็ยินดีอย่างเต็มที่ทางด้านการเงิน และเทคโนโลยีการก่อสร้าง
เส้นทางการคมนาคมดังกล่าว คาดว่าจะใช้เส้นทางเชียงใหม่ ผ่าน อ.สะเมิงและกัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ และเข้าสู่น้ำตกแม่สุรินทร์ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทางราวๆ 160 กม. ลดระยะทางการเดินทางไปได้เกือบเท่าตัว แต่ทั้งนี้จะต้องผ่านเทือกเขาสูงซับซ้อนในพื้นที่อย่างมาก ทางออกที่ดีกว่า คือ การเจาะอุโมงค์รถยนต์ ซึ่งจะผ่านพื้นที่ของชาวเขาปกากะเญอในหมู่บ้าน 3 แห่งในเขตจ.แม่ฮ่องสอน คือ บ้านแก่งน้อยระยะทาง 3.2 กม. และ ต.ห้วยแม่ปูลิง ระยะทาง 5.6 กม. ส่วนอีกสองหมู่บ้านคือ บ้านตาละ และบ้านแม่ตาละม้ง ในเขต อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ระยะทางรวม 13 กม. จะนำมาซึ่งการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ อีกทั้งสามารถนำเอาผลผลิตทางการเกษตรสู่ตลาดและนำองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว
ที่สำคัญเป็นการตัดถนนสู่แนวชายแดนสำคัญด้าน จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ อ.สบเมย จนถึง อ.เมืองที่มีระยะทางยาวถึง 200 กม. ซึ่งมีเส้นทางติดต่อกับชายแดนของเมียนมาอยู่หลายช่องทาง เป็นเส้นทางการติดต่อไปยัง อ.หลอยก่อ รัฐคะยา มีมูลค่าการค้าชายแดนจำนวนมากและจะได้พัฒนาเป็นจุดผ่านแดนถาวรต่อไป จะทำให้ประเทศไทยห่างจากกรุงเนย์ปิดอว์เพียง 200 กม. และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงสู่ อินเดียและบังกลาเทศอีกด้วย
การศึกษาการสร้างเส้นทางคมนาคมโดยการขุดอุโมงค์ผ่านพื้นที่ดังกล่าวจะผ่านแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ซึ่งจะต้องศึกษาอย่างระมัดระวังศึกษาในเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนและความปลอดภัยในการก่อสร้าง และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เรียกกันว่า EIA (Environmental Impact Assessment) โดยใช้หลักวิชาการในการทำนาย ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบของการดำเนินโครงการพัฒนาทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจและสังคม เพื่อจะได้หาทางป้องกัน ผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดน้อยที่สุด
ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คุ้มค่าที่สุดเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าสมควรดำเนินการหรือไม่ ตั้งแต่ขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังดำเนินโครงการไปแล้ว โดยทำการประชาพิจารณ์แบบให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมเพราะผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน