posttoday

1 ศตวรรษ บิดาแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์ไทย จันตรี ศิริบุญรอด

22 ธันวาคม 2560

เรื่อง : พริบพันดาว"...จริงอยู่ นิยายในรูปวิทยาศาสตร์อาจเป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต ความประสงค์ของข้าพเจ้าก็เพียงก่อให้เกิดความสนุกสนานในอารมณ์ แทรกด้วยสิ่งที่ควรรู้ ควรคิด ควรเห็น ด้วยเหตุผลความคิดคำนึงมากกว่าจะให้เป็นจริงจัง

เรื่อง : พริบพันดาว

"...จริงอยู่ นิยายในรูปวิทยาศาสตร์อาจเป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต ความประสงค์ของข้าพเจ้าก็เพียงก่อให้เกิดความสนุกสนานในอารมณ์ แทรกด้วยสิ่งที่ควรรู้ ควรคิด ควรเห็น ด้วยเหตุผลความคิดคำนึงมากกว่าจะให้เป็นจริงจัง

ในต่างประเทศ เขามีหนังสือประเภทนี้มาก เช่น 'Space Science Fiction' 'Galaxy' 'Fantasy' แต่เมืองไทยไม่มีเลย เชื่อว่าสมองของคนไทยไม่เลวไปกว่าฝรั่ง ถ้าได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังเงินและกำลังใจดีๆ คนไทยจะกว้างและรักวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่านี้..."

จันตรี ศิริบุญรอด เขียนไว้ในนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง "ผู้สร้างอนาคต" เขาถือเป็นผู้บุกเบิกหนังสือวิทยาศาสตร์และนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ทิ้งผลงานไว้มากมาย แม้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากก็ตามที

จากผลงานที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ บทความและสารคดีกว่า 300 ชิ้น ที่ได้ตีพิมพ์ผ่านนิตยสาร "วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์" และ "วิทยาศาสตร์อัศจรรย์" ซึ่งได้สร้างความฝันอันบรรเจิดให้กับเยาวชนในยุคนั้นให้มีจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ก้าวไกลไปสู่อวกาศ สร้าง แรงบันดาลใจให้หลายคนใฝ่ฝันที่จะเป็น นักวิทยาศาสตร์ และหลายคนก็ยึดถือ จันตรี ศิริบุญรอด เป็นแบบอย่างในการเป็นนักเขียนแนวไซ-ไฟ

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล อาจารย์ฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งผันตัวเองมาเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังของไทย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประทับใจในผลงานของจันตรี เขากล่าวในงานมอบรางวัล "จันตรี ศิริบุญรอด" สำหรับการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 1 ในปี 2548 ว่างานเขียนของจันตรีได้สร้างจินตนาการจนทำให้เขาอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์และยังมีส่วนส่งเสริมให้เขากลายมาเป็น นักเขียนแนวไซ-ไฟด้วย

"อาจารย์จันตรี ถือเป็นบุคคลเดียวที่ทุ่มเทให้งานเขียนทางด้านนี้อย่างจริงจัง แม้ว่า สมัยก่อนจะมีคนเขียนงานลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่ไม่มีใครจริงจังเหมือนอาจารย์จันตรี อาจารย์เป็นบุคคลที่มีการศึกษาไม่สูงนัก แต่มีความใฝ่รู้สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมประทับใจ อีกทั้งยังเป็นคนที่มีความรู้แตกฉานถึงขั้นสร้างจินตนาการที่สื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายได้ และเป็นตัวอย่างของคนที่ใฝ่รู้ ใฝ่คิด ใฝ่จินตนาการและมีความตั้งใจที่จะทำให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์

ในวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต (ภาษาไทย) "การศึกษาเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ของ จันตรี ศิริบุญรอด" (A Study on Scientific Shory Stories of Chantree Siriboonrod) ของ บุญสม พลเมืองดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2536 ได้บอกถึงผลการศึกษาคุณค่าด้านความสมจริงของสาระทางวิทยาศาสตร์ และคุณค่าทางวรรณศิลป์ของเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ของจันตรี ศิริบุญรอด จำนวน 17 เรื่อง ได้แก่ ผู้ดับดวงอาทิตย์ มนุษย์โลหะ หุ่นผู้สร้างมนุษย์ สำรวจดวงอาทิตย์ สู่โลกพระจันทร์ แสงเช้า-อาวุธมหัศจรรย์ มนุษย์คู่ มนุษย์แมลง ผู้มาจากพลูโต ศีรษะที่มีชีวิต ชีวิตสุดท้ายในโลก ภาพที่มีชีวิต ผู้เป็นอมตะ ผู้มากับอุกกาบาต คำสาปของเทวรูป หลุมศพเร้นลับ และเมืองใต้บาดาล ว่า เรื่องสั้นเหล่านี้แบ่งตามลักษณะแนว เรื่องได้ 5 ประเภท

1.แนวเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปในอวกาศ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 7 เรื่อง คือ สำรวจดวงอาทิตย์ สู่โลกพระจันทร์ มนุษย์แมลง ผู้มาจากพลูโต ภาพที่มีชีวิต ผู้มากับอุกกาบาต คำสาปของเทวรูป หลุมศพเร้นลับ

2.แนวเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปกับเวลาเข้าสู่อนาคตหรืออดีต ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 1 เรื่อง คือ ผู้เป็นอมตะ

3.แนวเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา และจิตวิทยาของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 5 เรื่อง คือ เมืองใต้บาดาล มนุษย์โลหะ แสงช้า-อาวุธมหัศจรรย์ มนุษย์คู่ และชีวิตสุดท้ายในโลก

4.แนวเรื่องเกี่ยวกับพลังทางกายและ ทางจิต ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 1 เรื่อง คือ คำสาปของเทวรูป

5.แนวเรื่องเกี่ยวกับการประยุกต์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 3 เรื่อง คือ ผู้ดับดวงอาทิตย์ ศีรษะที่มีชีวิต และหุ่นผู้สร้างมนุษย์

จันตรี เป็นนักเขียนเรื่องบันเทิงแนววิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างปี 2460-2511 ผลงานเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่นำมา วิจัยมีคุณค่าด้านความสมจริงของสาระทางวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดความสมจริง โดยอิงหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้สอดคล้องและใกล้เคียงหลักความเป็นจริงเกือบทุกเรื่อง

ทั้งที่วิทยาศาสตร์ในสมัยของผู้เขียน ยังมิได้ก้าวไกลเช่นสมัยปัจจุบัน ในด้านคุณค่าทางวรรณศิลป์ ซึ่งนับเป็นหัวใจในการแต่งเรื่องสั้นนั้น ผู้เขียนวางโครงเรื่องได้ดีเด่นด้วย แนวคิด มีปมปัญหาขัดแย้งเป็นส่วนมาก องค์ประกอบด้านอื่นๆ ได้แก่ ตัวละคร บทสนทนาและฉาก ผู้เขียนนำมาแต่งเติมให้เรื่องมีสีสันน่าอ่านยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณาความสมจริงของสาระ ทางวิทยาศาสตร์และองค์ประกอบของเรื่องสั้น โดยภาพรวมแล้วเรื่องที่เด่นเป็นพิเศษก็คือ มนุษย์คู่ ศีรษะที่มีชีวิต และหุ่นผู้สร้างมนุษย์ จึงนับได้ว่าผู้เขียนนำเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยเหตุผลมาเขียนเป็นเรื่องบันเทิงได้ เป็นการนำวิทยาศาสตร์และวรรณกรรมมาเสริมค่าซึ่งกันและกัน ด้วยฝีมือการประพันธ์ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์

จันตรี ศิริบุญรอด เกิดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2460 เพราะฉะนั้นในปี 2560 นี้ จึงมีอายุ ครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของบิดาแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์ไทย