ของเล่นเด็ก สุดไฮเทค หรือวายร้าย

02 มกราคม 2561

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)สวัสดีปีใหม่ 2561 ผู้อ่านคอลัมน์ทันกระแส IoT ทุกท่านค่ะ หวังว่าทุกท่านคงได้เติมพลังกาย พลังใจ พร้อมเผชิญความท้าทายในปีใหม่นี้

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

สวัสดีปีใหม่ 2561 ผู้อ่านคอลัมน์ทันกระแส IoT ทุกท่านค่ะ หวังว่าทุกท่านคงได้เติมพลังกาย พลังใจ พร้อมเผชิญความท้าทายในปีใหม่นี้

ปีใหม่เป็นฤดูแห่งการส่งความสุข และการมอบของขวัญให้คนที่เรารัก บ้านไหนที่มีเด็กๆ คงหนีไม่พ้นการหาของเล่นมาให้เป็นของขวัญปีใหม่ ของเล่นสมัยนี้ก็มีความสลับซับซ้อน (ไฮเทค) ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ใส่ถ่านธรรมดาๆ อีก ต่อไป แต่ยังสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบน สมาร์ทโฟน เพื่อให้เกิดความสามารถพิเศษอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเป็นกลุ่ม หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เช่น ตุ๊กตาที่ตอบโต้พูดคุยกับเด็กได้ หรือหุ่นยนต์ที่มีปฏิกิริยาเมื่อถูกสัมผัสหรือเมื่อได้ยินเสียงเพลง

ของเล่นที่ฮอตสุดๆ ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ Furby Connect (ตุ๊กตา Furby ที่สามารถเชื่อมต่อกับแอพบนโทรศัพท์ผ่านบลูทูธ เพื่อทำกิจกรรมกับเจ้าของ) Hello Barbie (ตุ๊กตา Barbie ที่เชื่อมต่อไว-ไฟ สามารถพูดคุยโต้ตอบกับเด็กได้อย่างเป็นธรรมชาติ) และ My Friend Cayla (ตุ๊กตาที่พูดคุยกับเด็กได้โดยการเชื่อมต่อบลูทูธเพื่อประมวลผลคำถามคำตอบบนโมบาย)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ก.พ. 2560 ก็มีข่าวที่ช็อกวงการของเล่น เพราะรัฐบาลเยอรมัน ประกาศว่า ตุ๊กตา My Friend Cayla เป็นของเล่นที่ผิดกฎหมายและให้ทุกบ้านกำจัดทิ้งทันที เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้ลอบดักฟังข้อมูลส่วนบุคคล ละเมิดความเป็นส่วนตัว สาเหตุมาจากแอพพลิเคชั่นจะส่งเสียงพูดของเด็กไปให้บริษัทเอเยนซีข้างนอกเพื่อวิเคราะห์และส่งโฆษณากลับมาตามกลุ่ม เป้าหมาย นอกจากนี้การเชื่อมต่อทางบลูทูธระหว่างตุ๊กตากับโทรศัพท์ก็ขาดความปลอดภัย ใครก็ตามที่อยู่ในรัศมี 10 เมตรจากตุ๊กตาสามารถดักจับและปลอมแปลงข้อมูลการสนทนาได้

ไม่ได้มีแต่ Cayla เท่านั้นที่กำลังตกที่นั่งลำบาก Furby Connect ก็ถูกพบช่องโหว่ในการเชื่อมต่อบลูทูธที่อนุญาตให้คนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงตุ๊กตาดักฟังการสนทนา รวมถึงเปิดไมโครโฟนเพื่อคุยกับเด็กได้ รวมถึงหุ่นยนต์ BB-8 จากหนังสตาร์วอร์ส ภาคใหม่ล่าสุด ก็ถูกวิจารณ์เรื่องความไม่ปลอดภัยของการเชื่อมต่อบลูทูธเช่นกัน

ของเล่นประเภทที่ต้องออนไลน์ผ่านไว-ไฟและบลูทูธ ทั้งหมดต่างตกเป็นเป้าการโจมตีของแฮ็กเกอร์ เนื่องจากความเป็นของเล่น ผู้ผลิตจึงอาจตัดขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยบางอย่างที่ซับซ้อนออกไปเพื่อให้ใช้งานง่ายและเข้าใจง่าย ซึ่งกลายเป็นการเปิดประตูให้แฮ็กเกอร์เข้ามาดักฟังการพูดคุย มองเห็นกิจกรรมภายในบ้าน รวมถึงสามารถรู้ตำแหน่งที่อยู่ของตุ๊กตา (และเด็ก) ได้โดยง่าย

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อตุ๊กตาไฮเทคเหล่านี้ให้ลูก ผู้ปกครองจึงควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลเบื้องต้นให้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเป็นต้องอ่านเงื่อนไขการใช้งาน ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าบริษัทผู้ผลิตจะจัดการอย่างไรกับข้อมูลการโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและตุ๊กตา ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ที่ใด จะถูกเก็บเป็นความลับหรือจะถูกแชร์ให้กับใครบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าของเล่นสุดล้ำของลูกเราจะไม่กลายเป็นวายร้ายสุดแสบในภายหลัง

Thailand Web Stat