หญิงทะเล แห่ง ‘เชจู’

07 มกราคม 2561

เมื่อเทียบความ "สตรอง" ของสาวเกาหลีทั่วคาบสมุทรแล้ว

โดย ดร. เพียงออ เลาหะวิไลยpiangor@hotmail.com

เมื่อเทียบความ "สตรอง" ของสาวเกาหลีทั่วคาบสมุทรแล้ว ไม่มีใครจะสู้สาวจากเกาะเชจูได้ สาวๆ จากเกาะเชจูมีสายเลือดของนักผจญภัยในท้องทะเล เนื่องจากบรรพบุรุษฝ่ายสตรีมีชื่อเสียงในการเป็น "นักดำน้ำเก็บหอย" มาช้านาน

ที่จริง เรื่องราวของ "หญิงทะเล" หรือ "แฮ-นยอ" ได้ถูกเล่าขานกันไว้มากมาย และหลายปีก่อนก็ได้เคยเขียนลงในคอลัมน์นี้แล้ว ทว่า เมื่อมาเยือนเชจูอีกครั้ง ก็มิอาจที่จะทานทนไม่ให้เขียนถึง "นักดำน้ำสาวแห่งเชจู" ได้ เพราะเมื่อเครื่องบินแตะพื้นดินบนเกาะ กลิ่นอายของทะเลและสัญลักษณ์ของสาว เชจูก็ถาโถมเข้าสู่ประสาทการรับรู้ อีกทั้ง "คุณคิม" ไกด์สาวใหญ่ชาวเกาะเชจูขนานแท้ ได้ยกสาว "แฮ-นยอ" ขึ้นเป็น "ของขลังชื่อดัง" 1 ใน 3 ของเกาะเชจู เธอเล่าว่าคุณแม่ของเธอก็ประกอบอาชีพดำน้ำหาหอยเพื่อเลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่สาว จนอายุใกล้ 70 จึงได้เลิกไป ทำให้เราต้องมองหน้าคุณคิม ซ้ำๆ หลายหนเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง

สาวเชจูขนานแท้และดั้งเดิม มิได้ตัวสูงใหญ่แต่มีรูปร่างสันทัดและแข็งแกร่งโดยเฉพาะ แขน ขา และปอด ที่ต้องใช้ในการดำน้ำโดยไม่ได้ใช้ถังออกซิเจนช่วย สาวๆ "แฮ-นยอ" สามารถกลั้นหายใจในน้ำได้ถึง 3 นาทีเป็นอย่างน้อย ในขณะเดียวกันยังต้องพกพาอุปกรณ์งัดแงะ และแบกถุงตาข่ายใบใหญ่ที่บรรจุ ทั้งหอยเป๋าฮื้อ หอยนางรม หอยเม่น สาหร่ายสีน้ำตาล และ สัตว์น้ำอื่นๆ ที่เก็บได้กลับบ้าน ความแข็งแรงของร่างกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในอาชีพนี้ เพราะเธออาจต้องดำน้ำลงไปลึกถึง 30 เมตร ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง แม้ในวันที่มีคลื่นลมแรง ฝนตก หรือในฤดูหนาวที่น้ำทะเลเย็นยะเยือก...

หญิงทะเล แห่ง ‘เชจู’

ในที่สุด ใครบางคนในกลุ่มนักข่าวต่างประเทศของเราได้ถามว่า "แล้วผู้ชายเชจูทำอะไร ทำไมจึงปล่อยให้ผู้หญิงทำงานเสี่ยงอันตราย"....คุณคิมถึงกับยิ้มชอบใจจนตาหยี ทำให้นึกถึงหน้ากากที่นักเต้นระบำเกาหลีโบราณสวมใส่...ใช่แล้ว หน้าตาแบบนี้ล่ะ ขลังแบบสาวเกาหลีแท้ที่ไม่ได้ผ่านการศัลยกรรมมาแน่นอน

เนื่องจากเชจูเป็นเกาะ ดังนั้น การ ดำน้ำเพื่อหาปัจจัยยังชีพจึงเป็นวิถีท้องถิ่นซึ่งสามารถย้อนประวัติศาสตร์ลงไปได้ถึงราวปี ค.ศ. 434 ในสมัยนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่แต่อาจมีผู้หญิงที่ติดตามไปช่วยสามีบ้าง ทว่า มาถึงจุดเปลี่ยนในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่เกิดจากหลายเหตุปัจจัยที่น่าสนใจมาก...

ปัจจัยแรก คือ "จำนวนผู้ชายลดลง" ในช่วงศตวรรษนั้น อาณาจักรโชซอนเกิดภัยสงครามรอบด้านต่อเนื่องยาวนานทำให้ผู้ชายเกาหลีจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากสงคราม และจากอุบัติเหตุเรือประมงอับปาง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ฝ่ายผู้หญิงต้องหาเลี้ยงครอบครัวโดยต้องออกไปทำงานที่ผู้ชายเคยทำ ซึ่งในเวลานั้นบนเกาะไม่ได้มีอาชีพอื่นๆ มากมายนอกจากดำน้ำหาอาหาร

ปัจจัยที่สอง...คือ เป็นผลจาก "การบีบบังคับส่วยจากทางการ"... ในสมัยโบราณ เกาะเชจูเป็นดินแดนที่คนบนแผ่นดินใหญ่ไม่อยากมา เพราะทางการส่งนักโทษมาปล่อยเกาะที่นี่ อย่างไรก็ตาม หอยเป๋าฮื้อจากเชจู มีจำนวนมากและรสชาติดีที่สุด จึงกลายเป็นส่วยบรรณาการแก่ครอบครัวขุนนางในเมืองหลวง ในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้เอง มีบันทึกเก่าแก่ระบุว่า ทางการได้ลงโทษโบยตีแก่ชายหญิงในครอบครัวที่ไม่สามารถหาหอยเป๋าฮื้อแห้งมาเป็นส่วยบรรณาการตามปริมาณที่กำหนดได้ จึงสันนิษฐานว่า เหตุการณ์นี้บังคับให้ ผู้หญิงต้องเริ่มช่วยดำน้ำหาหอย แม้จะอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ !

ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าใจและทำให้ต้องคารวะความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจของบรรพบุรุษสาวเชจูกันเลยค่ะ

หลังศตวรรษที่ 18 มานี้เอง ผู้หญิงบนเกาะเชจูมีทักษะในการดำน้ำอย่างเอกอุและเป็นต้นแบบของ Working Mom ในประวัติศาสตร์เกาหลี จึงทำให้มีอำนาจมากในครอบครัวเพราะเป็นผู้หาเลี้ยง ส่วนฝ่ายชายต้องเปลี่ยนหน้าที่มาดูแลครอบครัวและทำงานบ้านในขณะที่ผู้หญิงออกทะเล ยิ่งไปกว่านั้นในปี 1910 หลังจากญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี ก็ได้ยกเลิกการเก็บส่วยส่งทางการด้วยหอยต่างๆ ที่หามา ทำให้ "แฮ-นยอ" สามารถเอาของที่หามาได้ไปขายได้อย่างเสรี ถ้าโชคดีได้ไข่มุกธรรมชาติเม็ดโตก็รวยไปเลย

ในช่วงนี้เองพ่อค้าทั้งชาวญี่ปุ่นและเกาหลี ได้ว่าจ้าง "แฮ-นยอ" ให้ไปดำน้ำหาหอยทะเล ไข่มุก และสัตว์น้ำ ทั้งบริเวณฝั่งอินชอนและที่ญี่ปุ่น จึงฉุดพลังของ สาว "แฮ-นยอ" ไม่อยู่แล้วค่ะ เธอกลายเป็นผู้มีเสียงดังที่สุดของครอบครัว และเกาะเชจูมีรายได้จากการหาสัตว์น้ำจากการดำน้ำเก็บด้วยมือของสาว "แฮ-นยอ" ถึง 60% ของรายได้ทั้งหมด ในเวลานั้น เกาะเชจูนี้จึงมีโครงสร้างสังคมที่แปลกประหลาดกว่าบนแผ่นดิน คือ ผู้หญิงเป็นใหญ่ หลายครอบครัวนอกจากแม่จะส่งเสียลูกเรียนแล้ว ภรรยายังหาเงินส่งสามีเรียนหนังสือเสียด้วย

หญิงทะเล แห่ง ‘เชจู’

ในช่วงปี 1950 "แฮ-นยอ" กลายเป็นอาชีพที่ป๊อปที่สุดของผู้หญิงชาวเชจู เริ่มทำกันตั้งแต่เป็นสาวแรกรุ่น และมีจำนวนเกือบ 3 หมื่นคน ทว่า โลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร ในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ทำให้อาชีพ แฮ-นยอ เกือบจะสูญสิ้นไปพร้อมๆ กับเสียงของผู้หญิงที่เริ่มเบาลงในครอบครัว ซึ่งเริ่มต้นจาก การมาของสวนส้มแมนดาริน !

ในปี 1960 รัฐบาลเกาหลีที่เริ่มวางโครงร่างการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ได้ศึกษาศักยภาพของเกาะเชจูและพบว่า มีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนาทางการเกษตรมากกว่าการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม (โล่งอกไปที) จึงได้พัฒนา "โครงการปลูกส้มแมนดารินเพื่อการส่งออก" บนเกาะ ด้วยเหตุนี้ พื้นที่บนเกาะจึงได้เริ่มถูกปรับไถ และนำต้นส้มเข้ามาปลูก จึงเกิดอาชีพทางเลือกใหม่แทนการออกทะเลเสี่ยงชีวิต

ต่อมารัฐบาลปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ กลายเป็น "เกาะฮันนีมูน" ในช่วงปี 1980-2000 ใครแต่งงานต้องเดินทางมาฮันนีมูนที่เกาะเชจูกันแทบทั้งนั้น เกาะพัฒนาไปมากจึงทำให้เด็กสาวเชจูเลือกที่จะไม่เดินตามรอยบรรพบุรุษหญิง ปัจจุบัน จึงเหลือ แฮ-นยอ น้อยมาก และเกินกว่า 98% อายุมากกว่า 50 ปี "คุณย่าแฮ-นยอ" ที่ยังคงดำน้ำอยู่มีอายุมากที่สุดถึง 80 และยังแข็งแรงดีมากเสียด้วยค่ะ...(ตามเที่ยวเชจูต่อฉบับหน้า)

Thailand Web Stat