หุ้นไทยสู่โหมดพักฐาน
บงกชรัตน์ สร้อยทองตลาดหุ้นไทยผ่านมา 1 เดือน ดัชนีมีการเคลื่อนไหวและทำลายสถิติตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการวันแรก และยังคงทำลายสถิติเก่าที่ทำไว้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้หุ้นไทยปิดสูงสุดอยู่ที่ระดับ 1,838.96 จุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. และวันที่ 31 ม.ค. ปิดที่ 1,826.86 จุด เพิ่มขึ้น 73.15 จุด หรือ 4.17% จากวันที่ 29 ธ.ค. ปิดที่ 1,753.71 จุด โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 18.331 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 4,000 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ 18.327 ล้านล้านบาท
บงกชรัตน์ สร้อยทอง
ตลาดหุ้นไทยผ่านมา 1 เดือน ดัชนีมีการเคลื่อนไหวและทำลายสถิติตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการวันแรก และยังคงทำลายสถิติเก่าที่ทำไว้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้หุ้นไทยปิดสูงสุดอยู่ที่ระดับ 1,838.96 จุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. และวันที่ 31 ม.ค. ปิดที่ 1,826.86 จุด เพิ่มขึ้น 73.15 จุด หรือ 4.17% จากวันที่ 29 ธ.ค. ปิดที่ 1,753.71 จุด โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 18.331 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 4,000 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ 18.327 ล้านล้านบาท
หากดูการซื้อขายตามประเภทนักลงทุน ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,699.28 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนรายบุคคลขายสุทธิ 5,115.82 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 5,430.29 ล้านบาท เช่นเดียวกับบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 5,384.81 ล้านบาท
"อาภาภรณ์ แสวงพรรค" ผู้อำนวยการบริการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หลังจากดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,840 จุดแล้ว ก็มีแรงขายทำกำไรออกมา โดยถือว่าเข้าสู่การพักฐานจนลงไปแนวรับที่ 1,806 จุดแล้ว ซึ่งคาดว่าหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ถ้าไม่มีข่าวหรือปัจจัยลบอะไรแรงๆ ออกมา โดยสิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ การทยอยประกาศผลดำเนินการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 4 และประจำปี 2560 ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นตลาดได้
"ธนเดช รังษีธนานนท์" ผู้อำนวยการอาวุโส บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่หุ้นไทยผันผวนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี และยังเชื่อว่ายังไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกไป นักลงทุนแค่ระวังความเสี่ยงจากสินทรัพย์มากขึ้น และที่ผ่านมาต่างชาติยังเข้ามาในไทยอยู่ แต่เป็นการเข้าซื้อตลาตราสารหนี้ เพียงแต่ไม่เข้าซื้อหุ้นไทยเท่านั้น
สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการเปลี่ยนประธานคนใหม่ในเดือน ก.พ.นี้ ก็ต้องติดตามนโยบายหรือท่าทีว่าจะเป็นอย่างไรต่อ รวมทั้งติดตามตัวเลขการจ้างงานและนโยบายของ โดนัลล์ ทรัมป์ หลังชนะโหวตเรื่องการปฏิรูปภาษี และจะมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายทางการค้าแต่ละประเทศมากขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศประเด็นการเมืองเรื่องการเลือกตั้งเริ่มมีน้ำหนักในการลงทุนมากขึ้น และติดตามผลประกอบการ บจ.
คำแนะนำตอนนี้ถือหุ้นไม่ควรเกิน 70% ของพอร์ตการลงทุนรวม แต่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 50% เน้นเลือกการลงทุนเป็นรายตัวมากขึ้น เชื่อว่าหุ้นยังเคลื่อนไหวในกรอบ 1,800-1,850 จุด กลยุทธ์ตอนนี้เมื่อถึงแนวต้านให้ขายทำกำไรไว้ก่อน เพราะเริ่มมีแรงขายทำกำไรในหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นค่อยไปซื้อแนวรับที่ 1,800-1,820 จุด เพราะที่ผ่านมาเมื่อหุ้นลงมาที่ระดับดังกล่าวยังมีแรงเข้ามาซื้อกลับอยู่ ในกลุ่มที่ราคาหุ้นยังปรับขึ้นไม่มากหรือน้อยกว่าปัจจัยพื้นฐาน แต่คาดว่าผลประกอบการจะออกมาดี เช่น หุ้นค้าปลีก และหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล
"ภรณี ทองเย็น" รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASP) ระบุว่า ภาพตลาดหุ้นไทยช่วงนี้อยู่ระหว่างปรับฐาน เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงถึง 35% และสูงสุดในระดับต้นของโลก โดยผลตอบแทนเป็นรองแค่ตลาดหุ้นสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนที่ 40% ถือว่าหุ้นไทยแพง
"ราคาหุ้นไทยค่อนข้างแพง โดยระดับราคาต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E Ratio ที่ 16.2 เท่า ทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นของดัชนีอยู่ในกรอบจำกัด ซึ่งกรอบการเคลื่อนไหวประเมินไว้ที่ 1,790-1,850 จุด โดยในช่วงครึ่งปีแรกโอกาสที่ดัชนีจะผ่านแนวต้าน 1,850 จุด ค่อนข้างยาก ในขณะที่แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติยังมีต่อเนื่อง ซึ่งต่างชาติขายหุ้นในกลุ่ม TIP คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์" ภรณี กล่าว
สำหรับปัจจัยการเมือง โดยเฉพาะการเลื่อนเลือกตั้งจากเดิมที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 เป็นเดือน ก.พ. 2562 ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังรอความชัดเจนในเรื่องนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่มีขึ้นในวันที่ 30-31 ม.ค.นี้ ดังนั้นนักลงทุนควรกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ โดยเลือกหุ้นปันผลดี และขายทำกำไรในหุ้นที่มีราคาปรับขึ้นจนเต็มมูลค่า
"สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี" รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวถึงการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาว่า ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนต่อเนื่องจากปี 2560 ตามภาวะตลาดหุ้นที่มีการปรับขึ้นและทำลายสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในอุตสาหกรรมที่มี บล.ออก DW ทั้งหมด 14 แห่ง ได้มีการออกแบบ DW ที่ทำให้นักลงทุนสามารถถือครองได้หลายวันมากขึ้น เหมือนกับที่บริษัทได้ออก DW รุ่นหยุดเวลามา อีกทั้งปัจจุบัน บล.ได้ออก DW ประเภท Out of the Money มากกว่า In the Money เนื่องจากแนวทาง Out of the Money เป็นการเก็งกำไรระยะสั้นที่ให้อัตราทดที่สูงกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการมากขึ้น
ขณะเดียวกันนักลงทุนมีพฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนไป มีความเข้าใจเรื่อง DW มากขึ้น จากเดิมที่มองว่าเป็นเครื่องมือในการลงทุนในภาวะที่ตลาดผันผวนอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเมื่อมีรุ่นที่สามารถถือครองได้เป็นสัปดาห์มากกว่าที่จะเก็งกำไรเป็นรายวัน ก็ทำให้เป็นอีกหนทางที่นักลงทุนจะซื้อ DW ล้อไปกับดัชนีที่คาดว่าจะปรับขึ้นหรือลงในระยะยาวได้ ซึ่งคาดว่าปัจจุบันที่หุ้นมีการเคลื่อนไหวผันผวน เห็นได้จากเริ่มมีการปรับฐานจากแรงขายทำกำไรและแรงซื้อกลับมาบ้าง นักลงทุนก็จะมีการใช้ DW ในลักษณะเก็งกำไรมากขึ้น
"เกศรา มัญชุศรี" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ย้ำเตือนกับผู้ลงทุนถึงการที่ ตลท.จะเริ่มให้มีการชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ภายใน 2 วัน (T+2) อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.นี้ จากเดิมใช้ T+3 ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมการดำเนินการดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาการชำระราคา เพราะที่ผ่านมาได้เตรียมการและทดสอบระบบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งธนาคารและ คัสโตเดียนแล้วมากกว่า 10 ครั้ง
ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้วันที่ 6 มี.ค. จะมีการชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ทั้งสองรายการของนักลงทุนที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ของวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการใช้ T+3 และรายการนักลงทุนที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ของวันที่ 2 มี.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการใช้ T+2
อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรเตรียมตัวให้พร้อม แต่เชื่อว่าผลจะทำให้นักลงทุนสามารถบริหารสภาพคล่องกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้ดีขึ้น