posttoday

เปิดมุมมองออกแบบยานยนต์อนาคต

17 กุมภาพันธ์ 2561

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของ อัลฟอนโซ อัลบายซ่า รองประธานอาวุโส ส่วนงานออกแบบทั่วโลก บริษัท นิสสัน มอเตอร์

โดย สไปรท์

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของ อัลฟอนโซ อัลบายซ่า รองประธานอาวุโส ส่วนงานออกแบบทั่วโลก บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบด้านการออกแบบรถยนต์นิสสัน ดัสสัน เรโนลด์และ อินฟินิตี้ ที่เข้ารับตำแหน่งในกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ล่าสุดได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อบรรยายแนวคิดการออกแบบรถยนต์ให้กับนิสิตและคณาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การออกแบบรถยนต์นั้นใช้ทฤษฎีไก่กับไข่เชื่อมโยงระหว่างสรีระของคนกับตัวรถ ซึ่งรถยนต์หนึ่งคันถึงแม้การดีไซน์จะเป็นส่วนนำก็ตาม แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับหลักคิดทางวิศวกรรมความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า โดยเทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้านิสสันมีขนาดที่เล็กลงอย่างมากจึงเกิดความอิสระในการออกแบบมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มของแบตเตอรี่ที่อยู่ตรงพื้นของตัวรถทำให้สามารถปรับการออกแบบให้มีความหลากหลายจากพื้นที่ที่มีมากขึ้น โดยนิสสันมองเห็นถึงด้านการพัฒนารถแท็กซี่ไร้คนขับซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต โดยสามารถนำเทคโนโลยีโรโบติกส์ไปใช้ได้กับอีกหลายๆ อย่างเช่น คาร์แชริ่งและไรด์แชริ่ง เป็นต้น

หากมองย้อนกลับไปในอดีตของ นิสสัน ลีฟ เจเนอเรชั่นแรกเมื่อ 10 ปีก่อน เวลานั้นไม่มีใครพูดถึงยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีพนักงานกว่า 1 หมื่นคน และนักออกแบบกว่า 800 คน ทุกคนมุ่งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่สิ่งที่นิสสันมองเห็นคือการออกแบบดีไซน์ยานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถเข้าถึงได้และถูกใจผู้บริโภคจนกระทั่งออกมาเป็นนิสสัน ลีฟ ซึ่งได้รับการตอบรับจากเวลานั้น ถึงวันนี้ที่มียอดขายทั่วโลกกว่า 3 แสนคัน

สำหรับในการประชุมด้านการออกแบบรถยนต์ของกลุ่มนิสสันเรโนลด์เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหยิบยกโปรเจกต์ด้านการออกแบบมาพูดคุยกัน และมีการนำเสนอการออกแบบใหม่อีกกว่า 26  รุ่น โดย 5-10 รุ่นในจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นโมเดลของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และหลังจากนี้อีวีรุ่นถัดไปของนิสสันจะเกิดขึ้นในรถกลุ่มครอสโอเวอร์

เปิดมุมมองออกแบบยานยนต์อนาคต

แม้ว่ารถยนต์นิสสันที่ได้รับการออกแบบปัจจุบันยังไม่อาจสามารถระบุได้ถึงทิศทางของบริษัทในอนาคต แต่กระนั้นการทำแผนและการกำหนดทิศทางของแบรนด์ในกลุ่มบริษัทหลังจากนี้จะเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการกำหนดทิศทางด้านเทคโนโลยีที่จะมุ่งไป

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเทคโนโลยีอีวีแล้วยังมีเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติที่บริษัทมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสั่งงานรถยนต์ด้วยสมอง (บีทูวี) ที่ใช้เซ็นเซอร์วิเคราะห์ความคิดในการขับขี่เพื่อช่วยลดความกังวลและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่

ขณะที่ความร่วมมือระหว่างนิสสันและมิตซูบิชิในการออกแบบรถกระบะนั้น แน่นอนว่าการนำเทคโนโลยีเครื่องยนต์ขนาดที่เล็กลงแต่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพนั้นยังเป็นทิศทางหลัก โดยจะต้องดึงจุดเด่นด้านการออกแบบของแต่ละแบรนด์หลังจากนี้เพื่อชูความโดดเด่นร่วมกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี (ดิจิทัล ดิสรัปชั่น) บริษัทได้มีการเตรียมพร้อมรับมือด้วยการเข้าสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพหลากหลาย เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเทคโนโลยีใดจะเกิดขึ้น จึงได้ตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดผ่านนิสสัน สตูดิโอ ที่ ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา

นับจากนี้การดำเนินงานของนิสสันจะอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของผู้บริหารคนนี้ ที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลและเนรมิตนวัตกรรมใหม่ให้เพิ่มขึ้นในอีกไม่ช้า