สิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีคลอดบุตร
วีระพล บดีรัฐผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคลหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความสนใจจากคนวัยทำงานจำนวนมาก ในฐานะผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม คือ เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งเรื่องที่ติด Top Hitคงหนีไม่พ้นเรื่องรักษาพยาบาลกับเรื่องสิทธิประโยชน์เมื่อเกษียณ แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสิทธิประโยชน์อีกด้านที่หลายคนยังไม่ได้รู้จักมากนัก
วีระพล บดีรัฐผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล
หนึ่งในเรื่องที่ได้รับความสนใจจากคนวัยทำงานจำนวนมาก ในฐานะผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม คือ เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งเรื่องที่ติด Top Hitคงหนีไม่พ้นเรื่องรักษาพยาบาลกับเรื่องสิทธิประโยชน์เมื่อเกษียณ แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสิทธิประโยชน์อีกด้านที่หลายคนยังไม่ได้รู้จักมากนัก
ในจังหวะที่รัฐได้ประกาศให้สิทธิการใช้ค่าคลอดบุตรและฝากครรภ์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษี 2561 โดยกำหนดให้ผู้ที่มีประกันสังคมเลือกใช้ สิทธิที่ได้รับเพิ่มนี้ กับสิทธิประโยชน์เบิกค่าคลอดบุตรของประกันสังคม ซึ่ง K-Expert แนะนำว่าถ้าพิจารณาที่จำนวนผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินที่จะได้รับ ต้องเลือกใช้สิทธิประกันสังคมมากกว่าใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าคลอดบุตรและฝากครรภ์สูงสุดที่นำใบเสร็จรวมกันมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้นถ้าเป็นผู้มีเงินได้อยู่ในฐานภาษีสูงสุด 35% ก็จะได้ประโยชน์สูงสุดที่ 21,000 บาทเท่านั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในฐานภาษีที่ต่ำกว่านั้น เช่น ฐาน 10% (มีเงินเดือนประมาณ 40,000 บาท) ก็จะได้ประโยชน์สูงสุดที่ไม่เกิน 6,000 บาท เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าเลือกที่จะใช้สิทธิประกันสังคม มาดูกันว่า สิทธิที่ว่านั้นมีอะไรและต้องใช้อย่างไร
1.ใช้สิทธิได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง แต่ใช้ ซ้ำกันในบุตรคนเดียวกันไม่ได้ต้องเลือก ถ้าฝ่ายหญิงเป็นผู้ประกันตนอยู่ด้วย ก็แนะนำให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้ใช้สิทธิ ก็จะได้ มากกว่า
2.ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่คลอด จึงจะมีสิทธิเบิกได้
3.จะคลอดที่โรงพยาบาลที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิประกันสังคม ซึ่งเรา ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และมายื่นเรื่องเบิกที่หลัง
4.สิทธิในการใช้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ถ้าเป็นฝ่ายหญิง หากเกินครั้งที่ 3 จะไม่ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร (ซึ่งฝ่ายชายไม่ได้เงินก้อนนี้อยู่แล้ว) แต่จะยังได้รับสิทธิคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายอยู่
5.ประโยชน์ที่ได้รับมีอะไรบ้าง
* หากเป็นฝ่ายชาย ได้รับค่าคลอดบุตร เหมาจ่าย 13,000 บาท/ครั้ง และได้รับค่าสงเคราะห์บุตรเดือนละ 400 บาท โอนเงินเข้าบัญชีให้ทุกเดือน จนบุตรอายุครบ 6 ปี
* หากเป็นฝ่ายหญิง จะได้ตามฝ่ายชายทุกประการ และเพิ่มเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน (เฉลี่ยค่าจ้าง 15,000 บาท ครึ่งหนึ่งคือ 7,500 บาท รวมแล้วจะได้ 22,500 บาท ถ้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือพนักงานบริษัท ลูกจ้างทั่วไป ที่ได้เงินเดือนละไม่ต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 15,000 บาท ก็จะได้ในอัตรานี้เลย หากเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ก็จะ ได้เงินน้อยลงกว่านิดหน่อย คืออยู่ที่ 20,200 บาท)
6.ยื่นเรื่องขอรับสิทธิประโยชน์ภายใน 1 ปี หลังคลอด โดยยื่นที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ พร้อมหลักฐาน
. แบบฟอร์ม สปส.2-01
. สำเนาบัตรประชาชน ของ ผู้ประกันตน
. สำเนาสูติบัตรบุตร
. สำเนาทะเบียนสมรส กรณีฝ่ายชายเป็นผู้ใช้สิทธิ ถ้าไม่ได้จดทะเบียนทางสำนักงานก็จะให้กรอกแบบฟอร์มหนังสือรับรองแทน หากฝ่ายหญิงเป็นผู้ใช้สิทธิก็ไม่จำเป็นต้องใช้
. สำเนาบัญชีธนาคารหน้าที่มีเลขบัญชี ของผู้ใช้สิทธิ
ถ้าเทียบกับสิทธิประโยชน์หลายๆ เรื่อง สิทธิคลอดบุตรของประกันสังคม ถือเป็นผลประโยชน์เงินก้อนที่ได้ในระดับสามารถช่วยคนทำงานที่จะเกิดภาระ ค่าใช้จ่ายใหม่ เช่น การมีลูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งหัวใจสำคัญไม่ใช่การได้มากหรือได้น้อย แต่อยู่ที่ว่าเงินก้อนนี้ จำเป็นต้อง วางแผนและใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นให้เกิด ประโยชน์สูงสุด การคลอดที่ไม่ได้สำรอง เงินไว้ล่วงหน้าหรือสำรองไว้ไม่พอ ก็สามารถใช้เงินก้อนนี้ลดภาระหนี้สินได้และต้องทำให้เร็วที่สุด หรือกรณีที่สำรองเงินไว้แล้วหรือค่าใช้จ่ายเพื่อการคลอดไม่ได้มากมาย เงินก้อนนี้ก็สามารถใช้ในการตั้งต้น ซื้อของใช้จำเป็น หรือใช้เพื่อเป็นเงินเก็บเริ่มต้นเพื่อการศึกษาบุตรก็ย่อมได้เช่นกัน