พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
วันนี้ชมพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ หนึ่งในพระเบญจภาคีที่หายาก ในบันทึกกล่าวว่าสร้างโดยฤาษี
โดย อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
วันนี้ชมพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ หนึ่งในพระเบญจภาคีที่หายาก ในบันทึกกล่าวว่าสร้างโดยฤาษี
ทั้ง 4 องค์ที่นำมาให้ชม เนื้อหาจัดจ้านดูง่าย เพราะผ่านการสัมผัสจากเหงื่อทำให้ผิวพระเปิดดูหนึกนุ่ม เป็นจุดพิจารณาง่าย
ด้านพุทธคุณครบเครื่องทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และมหาอุด
ขอขอบคุณเจ้าของพระทั้งสองท่านที่แบ่งปันมาให้ชมคือ คุณชวการ อัศวะมหาศักดา และของคุณจิตต์ปราณี สกุลก้องเกียรติ ครับ
- พระผงสุพรรณแตกกรุ เมื่อปี 2456 โดยคนจีนเข้าไปทำสวนผักในบริเวณวัดซึ่งถูกทิ้งให้รกร้าง แล้วก็แอบขุดพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พบ พระบูชาและพระเครื่องหลายพิมพ์ หนึ่งในนั้นคือ พระผงสุพรรณซึ่งเป็นเนื้อดินเผา มีหลายสี เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีดำ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ 3 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง พิมพ์หน้าหนุ่ม และนอกจากนี้ยังมีพิมพ์พระผงสุพรรณซึ่งเป็นโลหะ เนื้อชิน สันนิษฐานว่าสร้างจากแร่สังฆวานร (ตามบันทึกในใบลานที่ค้นพบ) เรียกว่า พระสุพรรณยอดโถ
- เนื้อดินของพระผงสุพรรณเป็นเนื้อดินค่อนข้างละเอียด แต่ไม่ละเอียดเท่าพระรอดกรุวัดมหาวัน
พระผงสุพรรณนั้น หากโดนเหงื่อผิวองค์พระจะหนึกนุ่ม ขึ้นเงาหรือที่เรียกว่าแก่ว่าน เหตุเพราะในการสร้างได้นำน้ำว่านมาผสมเข้ากับเกสรร้อยแปดนั่นเอง
นอกจากพิมพ์ทรงที่ต้องจดจำให้ได้แล้ว ยังมีจุดพิจารณาสำหรับพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่เพิ่มเติม ดังนี้
- พื้นผิวขององค์พระจะเป็นเม็ดผด คล้ายผิวมะระ เป็นคลื่นตะปุ่มตะป่ำไม่เสมอกัน อันเนื่องจากการหดตัวของพระเนื้อดินโดยธรรมชาติ
- ดวงตาด้านซ้ายขององค์พระจะติดนูนและ ตวัดขึ้นสูงกว่าด้านขวา เบ้าตาซ้ายมือองค์พระจะแคบกว่าฝั่งขวามือ
- โหนกแก้มซีกขวามือพระ จะเห็นเนื้อแก้มอิ่มนูนขึ้นมามากกว่าทางด้านซ้ายซึ่งจะติดตื้น และแก้มตอบกว่า
- จมูกองค์พระหนาใหญ่ ร่องแก้มจมูกข้างขวาพระ จะแคบและลึก ส่วนร่องแก้มจมูกข้างซ้ายพระ จะกว้างและตื้นกว่า
- ใบหูข้างขวาพระจะติดชัดเจน มีร่องลึก เหมือนร่องหู โดยช่วงบนจะโค้งนูนสูงคล้ายใบหูมนุษย์ ส่วน หูซ้ายพระจะติดไม่ชัดเจนเท่าไหร่
- อกขององค์พระใหญ่และคอดกิ่วมาทางด้าน ล่าง สะดือมองไปคล้ายหัวช้าง
- ระหว่างช่วงอกกับรักแร้ซ้ายขององค์พระเว้าลึกปรากฏเป็นหลุมสามเหลี่ยม
- ปรากฏเม็ดผดเล็กๆ ขึ้นเรียงรายใต้ราวนมซ้าย 3-4 เม็ด
- มือซ้ายหนาใหญ่อยู่กึ่งกลางลำตัว ปลายมือซ้ายไม่จรดมือขวา ปลายนิ้วชี้ซ้ายพระ จะเห็นเนื้อเกินที่ปลายนิ้วโค้งลงมา
- ที่ข้อมือขวาจะเป็นแอ่ง เว้าลึกเข้าไป เหมือนธรรมชาติ
- มือขวาจะมองเหมือนกุมไว้ ไม่แบออก
- ด้านหลังองค์พระจะมีรอยลายนิ้วมือปรากฏเป็นลายนิ้วมือหัวแม่โป้งแบบก้นหอยขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะนิ้วมือของคนโบราณ
- ใต้ข้อเท้าซ้ายพระจะมีตุ่มเล็กๆ 1 ตุ่ม
- ด้านในฝ่าเท้าของเท้าซ้ายพระ นับจากข้อเท้า มาถึงปลายเท้า จะเอียงลงมาเสมือนเท้าจริง
- ฐานด้านล่างมองจากหัวเข่าซ้ายมา จนถึงหน้าแข้งจะเป็นเงี่ยง 2 เงี่ยง
ทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของพระผงสุพรรณ ถ้าจำพิมพ์ทรงได้โดยไม่ลืมจุดเล็กจุดน้อยที่เป็นคุณลักษณะพิเศษพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ ตามที่นำเสนอ
ขอให้ทุกท่านโชคดี