การกลับมาของดาวศุกร์
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดที่เห็นได้จากโลกเราไม่เห็นดาวศุกร์บนท้องฟ้า
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดที่เห็นได้จากโลกเราไม่เห็นดาวศุกร์บนท้องฟ้าไม่ว่าจะเป็นเวลาหัวค่ำหรือเช้ามืดมายาวนานกว่า 2 เดือนแล้ว ดาวศุกร์ปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณกลางเดือน พ.ย.ถึงต้นเดือน ธ.ค. 2560 หลังจากนั้นดาวศุกร์เคลื่อนไปอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ หากมองจากนอกโลกจะเห็นดาวศุกร์อยู่ตรงข้ามกับโลกโดยมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางในวันที่ 9 ม.ค. 2561 ช่วงเวลานี้ดาวศุกร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ หรือที่คนไทยเรียกกันว่าดาวประจำเมือง อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในช่วงแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์ให้สังเกตได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อดูดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายปานกลางถึงสูง เราสามารถเห็นดาวศุกร์เปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างตามระยะห่างจากโลกและตำแหน่งที่สัมพันธ์กันระหว่างโลก ดาวศุกร์ และดวงอาทิตย์ ทำนองเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ตามดิถีต่างๆ ช่วงนี้ดาวศุกร์สว่างเกือบเต็มดวง หลังจากนั้นพื้นที่ด้านสว่างจะค่อยๆ ลดลง เหลือครึ่งดวงในกลางเดือน ส.ค. 2561 แล้วกลายเป็นเสี้ยว ความเป็นเสี้ยวของดาวศุกร์เล็กลงเรื่อยๆ ขณะที่ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นเนื่องจากใกล้โลกมากขึ้น
แม้ว่าพื้นที่ด้านสว่างของดาวศุกร์จะลดลงเมื่อเทียบกับดาวศุกร์เต็มดวง แต่ดาวศุกร์กลับสว่างขึ้นตลอดช่วงตั้งแต่ราวกลางเดือน เม.ย.เป็นต้นไป เพราะมีขนาดใหญ่ขึ้นนั่นเอง นักดาราศาสตร์บอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้าด้วยตัวเลขโชติมาตรหรืออันดับความสว่าง ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งสว่าง จากการคำนวณพบว่าช่วงนี้ดาวศุกร์สว่างที่โชติมาตร -3.9 ความสว่างลดลงเล็กน้อยหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงราวกลางเดือน เม.ย. 2561 หลังจากนั้นความสว่างของดาวศุกร์จะเพิ่มขึ้น สว่างที่สุดในราวปลายเดือน ก.ย. 2561 ด้วยโชติมาตร -4.8
ปีนี้เราสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์เป็นดาวประจำเมืองบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำได้จนถึงราวกลางเดือน ต.ค. หลังจากนั้นดาวศุกร์จะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนสังเกตได้ยาก พร้อมกับความสว่างที่ลดลง โดยในช่วงดังกล่าว ดาวศุกร์จะมีขนาดใหญ่และเหลือเป็นเสี้ยวบางมากเมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์
เมื่อราวครึ่งศตวรรษก่อน ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตส่งยานอวกาศหลายลำไปสำรวจดาวศุกร์ สาเหตุเพราะดาวศุกร์อยู่ใกล้ และมีความเชื่อว่าอาจมีสิ่งมีชีวิต แต่การสำรวจกลับพบว่าดาวศุกร์เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่รุนแรง พื้นผิวดาวศุกร์ร้อนจัดจนยากที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ ปัจจุบันมียานอวกาศลำหนึ่งที่อยู่ในภารกิจสำรวจดาวศุกร์ ยานอะกัตสึกิ (Akatsuki) ซึ่งแปลว่ารุ่งอรุณ ถูกส่งไปดาวศุกร์โดยองค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) ขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่เดือน พ.ค. 2553 โดยปล่อยจรวดขึ้นจากฐานในบริเวณศูนย์อวกาศทาเนกะชิมะ ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในหมู่เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น เดิมยานมีกำหนดจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์ในเดือน ธ.ค.ของปีนั้น แต่ประสบปัญหาทำให้อยู่ในวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อมาอีกยาวนานถึง 5 ปี และประสบความสำเร็จเมื่อยานโคจรเข้าใกล้ดาวศุกร์อีกครั้งในเดือน ธ.ค. 2558
บนยานอะกัตสึกิมีกล้องถ่ายภาพ 5 กล้องที่ถ่ายภาพในความยาวคลื่นต่างกัน นับตั้งแต่อินฟราเรด แสงที่ตามองเห็น ไปจนถึงอัลตราไวโอเลต ใช้สำหรับศึกษาเมฆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของดาวศุกร์ และมีกล้องสำหรับตรวจหาฟ้าผ่าในด้านกลางคืนของดาวศุกร์
สำหรับการสังเกตดาวศุกร์ในเวลาหัวค่ำของช่วงสัปดาห์นี้ ต้องพยายามหาสถานที่ซึ่งขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกไม่มีอะไรบดบัง อาจเริ่มสังเกตตั้งแต่ดวงอาทิตย์ยังไม่ตก โดยจดจำตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ตกหรือใกล้ตกไว้ก่อนล่วงหน้า อาจทำเครื่องหมายโดยปักไม้ไว้ห่างจากจุดสังเกตไปยังทิศทางเพื่อบอกตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ตก หรือจดจำตำแหน่งดวงอาทิตย์ตกเทียบกับสิ่งของที่อยู่บริเวณขอบฟ้า เช่น ต้นไม้ หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้วราว 25-30 นาที ให้สังเกตทิศทางที่ทำเครื่องหมายไว้ ดาวศุกร์จะเป็นดาวสว่างอยู่ใกล้ขอบฟ้า ปรากฏเป็นสีทองเนื่องจากแสงเดินทางผ่านบรรยากาศโลก มีเวลาสังเกตได้ไม่นานก่อนที่ดาวศุกร์จะตกลับขอบฟ้าในอีกไม่เกิน 25 นาทีถัดมา สำหรับช่วงนี้ ดาวศุกร์ตกลับขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ตกราว 45-55 นาที
ปลายสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้า ดาวพุธซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดจะทำมุมห่างดวงอาทิตย์จนปรากฏอยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ เราสามารถเห็นดาวพุธและดาวศุกร์อยู่ใกล้กันที่สุดในค่ำวันอาทิตย์ที่ 4 มี.ค. 2561 ด้วยระยะห่างเพียง 1.1 องศา โดยดาวพุธมีความสว่างน้อยกว่าดาวศุกร์หลายเท่า กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์น่าจะช่วยให้เห็นดาวพุธได้ง่ายขึ้น
หากยังไม่เห็นดาวศุกร์ด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น มีเมฆมาก หรือหาสถานที่ซึ่งขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกเปิดโล่งไม่ได้ เราสามารถเห็นดาวศุกร์ได้ง่ายมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากดาวศุกร์จะเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 18 ส.ค. 2561
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (25 ก.พ.-4 มี.ค.)
ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดมีดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง สว่างที่สุดในสามดวงนี้และขึ้นเหนือขอบฟ้าก่อนตั้งแต่ประมาณ 5 ทุ่มครึ่ง สังเกตได้ดีหลังจากนั้นเล็กน้อยเมื่อดาวพฤหัสบดีเคลื่อนสูงขึ้นตามการหมุนของโลก ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ขึ้นหลังดาวพฤหัสบดีราว 2 ชั่วโมง ส่วนดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู เริ่มเห็นเหนือขอบฟ้าก่อนตี 3 เล็กน้อย ดาวอังคารกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ดาวเสาร์มากขึ้นทุกวัน และมีความสว่างเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับดาวเสาร์ในสัปดาห์หน้า
ดาวศุกร์เริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ มีเวลาให้สังเกตได้ไม่นานหลังดวงอาทิตย์ตก โดยมีตำแหน่งอยู่บริเวณใกล้เส้นคั่นระหว่างกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำและกลุ่มดาวปลา สุดสัปดาห์ดาวพุธเคลื่อนมาอยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ ใกล้กันที่สุดในค่ำวันที่ 4 มี.ค. นอกจากท้องฟ้าต้องเปิด ไม่มีเมฆหมอกบังแล้ว จำเป็นต้องสังเกตจากสถานที่ซึ่งขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกเปิดโล่ง
ต้นสัปดาห์นี้ยังเป็นข้างขึ้น มองเห็นดวงจันทร์สว่างค่อนดวงอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ คืนวันที่ 1 มี.ค. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโตที่ระยะห่าง 5 องศา จากนั้นดวงจันทร์เต็มดวงในวันที่ 2 มี.ค. 2561