ICO น่าลงทุน หรือน่ากลัว แบบเข้าใจกันง่ายๆ
แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัดช่วงนี้ถ้าไม่พูดเรื่องนี้คงไม่ได้เลย สำหรับเครื่องมือการระดมทุนแบบใหม่ที่เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) ที่ขนมาอย่างมากมาย
แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด
ช่วงนี้ถ้าไม่พูดเรื่องนี้คงไม่ได้เลย สำหรับเครื่องมือการระดมทุนแบบใหม่ที่เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) ที่ขนมาอย่างมากมาย
สำหรับผู้อ่านที่เพิ่งเคยได้ยินเรื่อง ICO ผมขอเล่าให้แบบเข้าใจง่ายๆ ก่อนว่าคืออะไร
ICO คือ การที่สตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจในสายบล็อกเชน (Blockchain) จะระดมทุนโดยการนำเสนอผลงาน (ในภาษา ICO เรียกว่า White Paper) และเมื่อ นักลงทุนสนใจก็สามารถซื้อเหรียญ (Token) เพื่อแลกเปลี่ยน โดยที่เหรียญเหล่านี้ก็จะสามารถนำมาใช้บนบล็อกเชนแพลตฟอร์ม (Blockchain Platform) ที่เหล่าสตาร์ทอัพพัฒนาขึ้นมา หรือจะนำเหรียญไปเทรดต่อเพื่อเก็งกำไรก็ได้ (ซึ่งแน่นอนว่าโดยส่วนมากจะเป็นเช่นนั้น)
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบนิยามที่ทำให้เข้าใจคำว่า ICO ได้ดีที่สุดคือ การนิยามว่า ICO เป็นองค์ประกอบของคำ 2 คำ คือ
ICO = KickStarter + NASDAQ
Kickstarter คือแพลตฟอร์มที่ให้ เหล่านวัตกรคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ทำต้นแบบขึ้นมา หลังจากนั้นมาหาผู้สนับสนุนหรือที่เรียกว่า Crowdfunding เมื่อระดมทุนเสร็จแล้วก็สามารถนำเงินนั้นไปพัฒนาและนำส่งสินค้าให้กับผู้สนับสนุน
ส่วน NASDAQ ก็เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่เน้นการเทรดหุ้นประเภทเทคโนโลยี
ดังนั้น ด้วยองค์ประกอบของคำ 2 คำ จึงสามารถสรุปสั้นๆ ว่า ICO คือ การระดมทุนที่ได้เงินจำนวนมหาศาล โดยเพียงแค่มีคอนเซ็ปต์ และไม่ต้อง เสียหุ้นแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว แถมยังสามารถเทรดเพื่อเก็งกำไรได้ตลอดถึง 24 ชั่วโมง
ในเมื่อมันง่ายซะขนาดนี้ เหล่าสตาร์ทอัพที่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น (Seed Stage) ก็จะเปลี่ยนจากการหาเงินจากเหล่า Venture Capital ด้วยเหตุผลเพราะ
1.ต้องโดนกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะบริษัท (Due-diligence) อย่างหนัก เนื่องจากบริษัทเพิ่งเริ่มกิจการ
2.ต้องโดนต่อรองในเรื่องมูลค่า ของบริษัท (Valuation) จนต้องเสียหุ้นเป็นจำนวนมาก
3.สุดท้ายก็จะได้เงินร่วมทุนน้อย โดยปกติที่ต่างประเทศก็จะไม่เกิน 5 แสนเหรียญสหรัฐ (ในประเทศไทยก็ไม่เกิน 10 ล้านบาท) แต่ถ้า ICO สามารถได้ขั้นต่ำถึง 20 ล้านเหรียญ หรือราว 660 ล้านบาท และในตอนนี้มีบาง ICO ที่มีมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญแล้ว
เมื่อมูลค่าการระดมทุนสูงขนาดนี้ทำให้สตาร์ทอัพพยายามเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจหันมาทำเรื่องบล็อกเชน เพื่อที่จะได้ทำ ICO ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็มีกว่า 1,000 เหรียญ ได้ระดมทุนสำเร็จและออกมาเทรดกันแล้ว ทำให้ Venture Capital เริ่มที่จะหาสตาร์ทอัพลงทุนยากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ตัวเลขระดมทุนผ่าน ICO ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2017 ผ่าน ICO คือ 2,000 ล้านเหรียญ มากกว่าผ่าน Venture Capital ที่เพียง 600 ล้านเหรียญ
เมื่อ ICO ออกมาง่ายและมีจำนวนมาก หลายๆ คนจึงเกิดความสงสัยว่า ICO จะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งผมขอแยกเป็น 2 ประเด็น คือ
1.ICO ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มกิจการ และมีความคิดว่าจะทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ แต่พอได้เงินไปก็ไม่มีความสามารถในการบริหารต่อ โดยตัวเลขจาก news.bitcon.com ล่าสุดบอกว่ามี ICO กว่า 46% อยู่ในสถานะ Fail คือเลิกกิจการไปแล้ว โดยได้ทำการหยุดสื่อสารกับนักลงทุน ซึ่งถือว่านักลงทุนที่ถือเหรียญนั้นอยู่ก็กลายเป็นเหรียญไร้มูลค่าทันที นี่ยังไม่นับบาง ICO ที่เรียกว่า Scam ICO คือตั้งมาเพื่อตั้งใจหลอกให้นักลงทุนลงแล้วก็เชิดเงิน (เหมือนแชร์แม่ชม้อย)
2.แม้เราจะลงทุนใน ICO ที่ปลอดภัยก็ยังมีความเสี่ยง เมื่อมาเทรดบน Crypto Exchange Platform โดยหากระบบ Exchange นั้นๆ ไม่มีระบบ Cyber Security เพื่อป้องกันแฮ็กเกอร์แล้วก็จะเหมือนที่ญี่ปุ่นที่เพิ่งโดนแฮ็กไปล่าสุด ทั้งนี้ในประเทศไทยก็มีอยู่ 2 Exchange ที่คนไทยเข้ามาเทรดกันเยอะคือ BX และ TDAX ซึ่งทั้งสองแห่งก็ไม่เคยมีใครพูดถึงความปลอดภัยว่าอยู่ในระดับไหน และถ้าหากโดน Hack เหรียญเราก็จะหายไปโดยที่ไม่สามารถร้องเรียนใครได้ เพราะไม่มีหน่วยงานไหนกำกับในตอนนี้
นี่คือการสรุป ICO แบบง่ายๆ เพื่อให้ ผู้อ่านได้เข้าใจ ในฉบับหน้าผมจะเอาตัวอย่าง ICO ของจริงที่ประสบความสำเร็จ และ ICO ในประเทศไทยมาเปรียบเทียบให้ดูกัน พร้อมทั้งวิธีการลงทุนใน ICO แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าการลงทุนมีความเสี่ยง และการลงทุนแบบ ICO ต้องพิจารณาอย่างสูงสุด เพราะถือว่าเป็นประเภทการลงทุนที่เสี่ยงที่สุด
สำหรับผู้อ่านที่ต้องการติดตาม ข่าวสารและความรู้ฟินเทค สามารถกด Follow ได้ที่เฟซบุ๊ก Krungsri Finnovate ครับ รับรองสนุกแบบมีสาระแน่นอนครับ