วางแผนรายจ่าย
เรื่อง บีเซลบับภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์ไม่ว่าคุณจะมีเงินเดือนหลักหมื่นเรือนแสน แต่หากขาดการวางแผนจัดการเงินทองที่ดี เงินเดือนก็เป็นแค่ตัวเลขที่ผ่านเข้ามาทักทายบัญชีเงินฝาก จากนั้นก็จากไปแบบไม่ร่ำลา ถึงเวลาปรับวิถีชีวิตแบบเดิมๆ และวางแผนการใช้จ่ายเงินกันอย่างจริงจังแล้ว
เรื่อง บีเซลบับภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
ไม่ว่าคุณจะมีเงินเดือนหลักหมื่นเรือนแสน แต่หากขาดการวางแผนจัดการเงินทองที่ดี เงินเดือนก็เป็นแค่ตัวเลขที่ผ่านเข้ามาทักทายบัญชีเงินฝาก จากนั้นก็จากไปแบบไม่ร่ำลา ถึงเวลาปรับวิถีชีวิตแบบเดิมๆ และวางแผนการใช้จ่ายเงินกันอย่างจริงจังแล้ว
1.คุณต้องสะกดรอยตามเงินให้เจอก่อน และทางเดียวในโลกนี้ก็คือการทำรายรับ-รายจ่าย ที่จะทำให้คุณรู้ว่าเงินตั้งมากมายหายไปไหน จดบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ จดทุกสิ่งที่คุณซื้อ
2.แค่พกสมุดโน้ตเล่มเล็กๆ กับปากกาติดกระเป๋าไว้ แล้วควักออกมาจด...จด...จดทุกครั้งที่ได้รับเงินมาหรือใช้เงินไป ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะเล็กน้อย (ในสายตาคุณ) ขนาดไหนก็ตาม ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแอพพลิเคชั่นบันทึกรายรับรายจ่ายมากมายให้เลือกใช้บนมือถือ ทำให้สะดวกสุดๆ เพราะสามารถจดได้ทุกที่ทุกเวลา
3.เริ่มเลย เมื่อมีสมุดกับปากกาแล้ว... เริ่มด้วยการจด "ตัวเลข" รายได้ที่ได้มาในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือเดือนลงไป ทั้งเงินเดือน ค่าเช่า ค่านายหน้า โบนัส จ๊อบพิเศษ รวมถึงรายได้ที่เป็นรายการพิเศษต่างๆ เช่น เงินคืนภาษี เงินคืนจากประกันชีวิต หรือเช็กของขวัญในโอกาสต่างๆ ฯลฯ
4.ใส่ใจรายจ่าย ลองมาดูฝั่งค่าใช้จ่ายกันบ้าง ค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร
5.จัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน นี่คือค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่ต้องกันไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ โดยถือเป็นการจ่ายเพื่อตัวเองในการเดินตามความฝันหรือเป้าหมายทั้งระยะสั้นระยะยาว เช่น เงินออมเพื่อดาวน์รถ ดาวน์บ้าน ท่องเที่ยว แต่งงาน ค่าเล่าเรียนลูก หรือเงินออมเพื่อเกษียณอายุ
อย่าลืมแยกบัญชีเงินออมและลงทุนออกจากบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อป้องกันความสับสน และเผลอถอนเงินออมออกมาใช้!
6.ดูแลค่าใช้จ่ายคงที่ให้ดี ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนทุกเดือน เช่น ค่าผ่อน (เช่า) บ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนสินค้า หรือเงินกู้ต่างๆ ฯลฯ ถ้าดูแลไม่ดี ก็ทำให้มีปัญหาหรือกระทบถึง "กระเป๋า" ในส่วนอื่นๆ ได้
7.ควบคุมค่าใช้จ่ายผันแปร นี่คือค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละเดือน มีบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่แน่นอน ยืดหยุ่นไปตามกิจกรรมที่ทำในเดือนนั้นๆ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการดำรงชีวิตของแต่ละคน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง เงินทำบุญ ฯลฯ
8.หลังจาก จด จด จด สะกดรอยตามเงินครบ 4 สัปดาห์ ลองบวกลบคูณหารค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเดือนนั้น แล้วเอาสมุดโน้ตมากางดู คุณจะเห็น "รูรั่ว" ของกระเป๋าสตางค์อย่างชัดเจน
9.ถึงตอนนี้ ดวงตาที่เคยมืดมนก็จะเริ่มเห็นแสงสว่าง ส่องสัญญาณให้คุณเห็นภัยร้ายจากค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่ทุกวันรวมกันก็กลายเป็นพันเป็นหมื่นได้
เอาละ รู้แล้วสินะว่าเงินของคุณหายไปไหน รู้ลางๆ แล้วใช่ไหมว่าทำไมเงินเดือนถึงไม่ค่อยจะพอใช้ หรือเพราะเหตุใดคุณถึงได้จนไส้แห้งทุกครั้งก่อนสิ้นเดือน เฮ่อ!!! ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะ "คุณ" นั่นแหละที่เจาะกระเป๋าตัวเอง
วิธีแก้หรืออุดรูรั่วก็ไม่ยากเลย เพียงปรับเปลี่ยนและควบคุมการใช้จ่าย เริ่มจากการหั่นรายจ่าย รายจ่ายที่หั่นง่ายที่สุดคือการหั่นรายจ่ายผันแปรที่ไม่จำเป็น สำรวจตัวเองถ้าไม่ได้ไปสปอร์ตคลับนานมากแล้วก็ยกเลิกเถอะ หรือค่าเที่ยวค่ากินต่างๆ หั่นไปเลย
ใครอยากท้าทายกว่านั้น ให้ลองพิจารณาลดค่าใช้จ่ายคงที่ แม้ทำได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เช่น การ รีไฟแนนซ์เพื่อให้ภาระดอกเบี้ยลดลง หรือบางครั้งอาจต้องแลกกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคุณ เช่น หาบ้านใหม่ที่ค่าเช่าถูกลง ขายรถแล้วหันมาใช้บริการรถสาธารณะ
หั่นค่าใช้จ่ายแล้ว ต้องทำด้วยคือการเพิ่มรายได้ มองหางานที่ให้ค่าตอบแทนสอดคล้องกับรายจ่ายของคุณหรือหางานพิเศษทำ เมื่อรายจ่ายลดลง รายได้มากขึ้น คุณจะมีเงินเหลือออมมากขึ้น ทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ง่ายๆ แบบนี้เลย! n