‘C’ เครื่องหมาย ที่ผู้ลงทุนควรเข้าใจ
เรื่อง บงกชรัตน์ สร้อยทอง วันที่ 2 ก.ค. 2561 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะประกาศใช้ เครื่องหมาย C (Caution) ที่ต้องมีการซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด (แคชบาลานซ์)กับหลักทรัพย์หรือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีความเสี่ยงในด้านฐานะการเงินถดถอย งบการเงินมีปัญหา หรือมีการประกอบธุรกิจที่ไม่เหมาะสม หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เรื่อง บงกชรัตน์ สร้อยทอง
วันที่ 2 ก.ค. 2561 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะประกาศใช้ เครื่องหมาย C (Caution) ที่ต้องมีการซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด (แคชบาลานซ์)กับหลักทรัพย์หรือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีความเสี่ยงในด้านฐานะการเงินถดถอย งบการเงินมีปัญหา หรือมีการประกอบธุรกิจที่ไม่เหมาะสม หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
"เกศรา มัญชุศรี" กรรมการและ ผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า หน้าที่หนึ่งของ ตลท.คือ การกำกับตลาดและดูแลผู้ลงทุน ซึ่งมีอยู่ 2 ภาคส่วน คือ "สภาพการซื้อขายผิดปกติ" ด้านนี้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับ บจ.โดยตรง แต่เกี่ยวข้องในเรื่องซื้อขายด้วยบัญชีเงินสดเหมือนกัน เช่น การประกาศหุ้นที่มีเทิร์นโอเวอร์ลิสต์สูง และมีกรอบระยะเวลาในการซื้อขายด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น ซึ่งจะเห็นประกาศทุกสุดสัปดาห์
ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือ "มีความเกี่ยวข้องกับ บจ.โดยตรง" เดิมมีเกณฑ์และเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว คือ SP หรือ NP บจ. กรณีเกี่ยวกับงบการเงิน การไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ หรือการเปลี่ยนแปลงลักษณะธุรกิจ ที่มีสินทรัพย์เป็นรูปของเงินสด (Cash Company) ก็จะสอบถามหรือให้ บจ. ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเข้ามา แต่การเพิ่มเครื่องหมาย C จะช่วยให้ผู้ลงทุนได้สังเกตเพื่อระมัดระวังในการเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ โดยวิธีการนั้น ตลท.จะประกาศให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า 1 วันทำการ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบข้อมูลและแนวทางการแก้ไขของ บจ.ที่ต้องชี้แจงข้อมูลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ที่มีการประกาศขึ้นเครื่องหมาย และจะมีการปลดเครื่องหมายลงหลังจากที่ บจ.จะมีการแก้ไขเหตุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันหลายฝ่าย คือ บจ. มีข้อกังวลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50% ของทุนชำระแล้ว ซึ่งจะมีผลกระทบกับ บจ.ที่ผลประกอบการไม่ดีหรือขาดทุน และเป็นเรื่องยากในการฟื้นตัวของบริษัท หากต้องการเพิ่มทุนขึ้นมา ดังนั้นเกณฑ์จึงมีการ ปรับและออกมาว่าส่วนของผู้ถือหุ้นของ บจ.น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50% ของทุนชำระแล้ว หลังมีการหักส่วน ต่ำมูลค่าหุ้น (ถ้ามี) เพราะจะทำให้ บจ. ที่ขาดทุนสามารถเพิ่มทุนที่ต่ำกว่า ราคามูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) ได้ และนำส่วนต่ำมูลค่าหุ้นมาหักได้ ทำให้ บจ. มีการปรับปรุงและสามารถกลับมาเติบโตในอนาคตได้
"ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง" ผู้ช่วย ผู้จัดการหัวหน้าสายงานกำกับตลาด ได้อธิบายว่า ปัจจุบันเครื่องหมายต่างๆ ที่ ตลท.มีกำหนดคือ H และ SP เป็นเครื่องหมายเกี่ยวกับการสั่งพักการซื้อขาย โดย H มีทั้งที่ บจ.ขอให้ ตลท.ขึ้น H ไว้ เพราะเห็นว่าอาจจะมีเหตุที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง เช่น บริษัทมีการประกาศเพราะกำลังอยู่ระหว่างซื้อกิจการ หรือมีการรอพิจารณาจากคำสั่งศาล รวมทั้ง ตลท.สั่ง H โดยจะเป็นส่วนของการพักการซื้อขายหนึ่งช่วงตลาดเปิดซื้อขาย และถ้า บจ.ยังชี้แจงข้อมูลไม่ชัดเจนจะมีการสั่งพักการซื้อขายต่อในช่วงบ่าย แต่เปลี่ยนเป็นขึ้นเครื่องหมาย SP แทน ซึ่งเมื่อขึ้นเครื่องหมาย SP แล้วจะมีการขึ้นเครื่องหมาย C ประกอบด้วย เพื่อไว้ให้นักลงทุนได้พิจารณาว่าหุ้นตัวนี้เป็นอย่างไร
กรณีที่ บจ.มีการขึ้นเครื่องหมาย SP แล้ว 1 วัน และ บจ.ยังไม่มีการชี้แจงเพิ่มเติม ก็จะปลด SP ปกติจะขึ้นเครื่องหมาย NP ไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างการรอข้อมูลจาก บจ. แต่เปิดโอกาสให้มีการซื้อขายได้ แต่ต่อไปนี้จะมีเครื่องหมาย C ขึ้นประกอบด้วยว่าเพื่อให้นักลงทุนได้รู้ว่าต้องพิจารณาในการลงทุนและยังต้องซื้อหุ้นด้วยเงินสดเท่านั้น
เมื่อ ก.ล.ต.หมดข้อสงสัยอาจจะมีการปลดเครื่องหมาย NP แต่ในกรณีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน หรือผู้สอบบัญชี หรือ ก.ล.ต. สั่งให้แก้ไขงบ อาจจะมีการขึ้นเครื่องหมาย C ไว้อยู่ เนื่องจากต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงงบการเงินในไตรมาสใหม่มาก่อน เนื่องจากเกณฑ์ระบุไว้ว่า ต้องเข้าข่ายการพ้นเหตุอันข้อสงสัยได้หมดก่อนถึงจะปลดเครื่องหมาย C ลงได้
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้ลงทุนควรรู้ และเห็นความสำคัญต่างๆ เพราะนี่คือกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยคัดเลือกว่า บจ.ไหนมีคุณภาพที่ควรค่าแก่การ ลงทุน