ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (55)
อันเรื่องทรงม้า เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดนัก ประทับอยู่พระบวรราชวังเสด็จทรงม้าเล่าในสนามไม่ขาด
โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทรงรักษาพยาบาลทั้งกลางวัน กลางคืน ประชวรมาจนวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม 6 ค่ำ พอเป็นวันสุดงานพระพิธีโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระชนมายุได้ 58 พรรษา การพระศพโปรดให้เรียกว่าพระบรมศพ จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง เว้นแต่มิได้ประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์ทั้งเมือง เป็นแต่ที่มีสังกัดในพระบวรราชวัง เหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรฯ แต่ก่อนมา
เมื่อทรงพระประชวรหนักใกล้จะเสด็จสวรรคต ไม่ได้ทรงสั่งการอันหนึ่งอันใดให้ลำบากพระราชหฤทัย ไว้วางพระราชอัธยาศัยแสดงการทรงเชื่อถือเป็นหนึ่งว่า สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชซึ่งดำรงยุติธรรม จะทรงพระราชดำริแล้วดำรัสการทุกสิ่งทุกอย่าง สมควรแก่เหตุผลโดยยุติธรรมและราชการแผ่นดินไม่ต้องทรงพระวิตก เพราะเคยเห็นการที่ชอบเป็นมาแล้วแต่หลังนั้นเป็นอันมาก
ครั้นถึงปีขาล ปี 2409 โปรดให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวงตามแบบอย่างพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และจัดการแห่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนองครั้งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ 2 แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นเป็นหลายประการ
ปรากฏรายการพระเมรุครั้งนั้นว่า ณ เดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ เชิญพระบรมธาตุแห่แต่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง ออกประตูมหาโภคราช และประตูบวรยาตราด้านตะวันออก มาสมโภชที่พระเมรุวันกับคืนหนึ่ง แห่พระบรมธาตุกลับแล้ว ถึงเดือน 3 ขึ้น 6 ค่ำ เพลาบ่าย 2 โมง เชิญพระบรมศพแห่ออกประตูโอภาสพิมานชั้นกลางด้านเหนือ และประตูพิจิตรเจษฎาด้านตะวันตกพระบวรราชวัง ไปถึงตำหนักแพ เชิญพระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรสุข แห่ล้อมลงมาประทับที่พระราชวังเดิม ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับอยู่ตลอดเวลาในรัชกาลที่ 3
มีมหรสพสมโภชคืนหนึ่ง ครั้งเวลาดึกเคลื่อนเรือพระบรมศพมาประทับที่ท่าฉนวนวัดพระเชตุพนรุ่งขึ้น ขึ้น 6 ค่ำ เวลาเช้าแห่กระบวนน้อยไปยังที่ตั้งกระบวนใหญ่ที่ถนนสนามไชย เชิญพระบรมโกศขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุมาศทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช 7 วัน แล้วพระราชทานเพลิงเมื่อขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 เมื่อเสร็จการสมโภชพระบรมอัฐิแล้วโปรดให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ในพระบวรราชวัง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น วังหน้าผิดกับเวลาเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ 2 ที่ 3 สวรรคตหลายอย่าง เป็นต้นว่า พระราชวังบวรฯ ที่เคยชำรุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์ให้กลับบริบูรณ์ดีแล้วทั้งข้างหน้าข้างในทั่วไป และเจ้านายฝ่ายในพระบวรราชวังก็มีมากขึ้น มีพระองค์เสด็จอยู่ทั้ง 4 รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ไม่ควรจะทิ้งพระบวรราชวังให้เป็นวังร้างว่างเปล่าเหมือนอย่างแต่ก่อน และตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปประทับอยู่วังหน้าก็เคยมีดังกล่าวมาแต่ก่อนแล้วจึงเสด็จขึ้นไปประทับเป็นประธานในพระบวรราชวังเนืองๆ บางทีก็เสด็จไปเยี่ยมเฉพาะเวลาบางทีประทับแรมอยู่ก็มีบ้าง และเวลานั้นมีเก๋ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระวิสูตรวารี (มลิ) สร้างถวายตรงหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ยังค้างอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อมาจนสำเร็จ ขนานนามว่า “พระที่นั่งบวรบริวัติ” เป็นที่ประทับเวลาเสด็จไปอยู่พระบวรราชวัง ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต่อมาดำรัสว่าที่พระที่นั่งบวรบริวัติถูกแดดบ่ายร้อนจัดนัก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งต่อไปข้างเหนือ การยังไม่สำเร็จจนตลอดรัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดารวมทั้งสิ้น 58 พระองค์ โดยประสูติก่อนบวรราชาภิเษก 33 พระองค์ และประสูติหลังจากบวรราชาภิเษก 25 พระองค์ ซึ่งมีรายพระนามเรียงตามพระประสูติกาล
บวรราชสกุล ในวังหน้า-พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มี 11 สกุล
1.สุธารส พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุธารส ทรงเป็นต้นราชสกุล สุธารส ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าหญิง 1 พระองค์
2.วรรัตน์ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรัตน์ กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล วรรัตน์ ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 15 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 10 พระองค์
3.ภาณุมาศ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุมาศ ทรงเป็นต้นราชสกุล ภาณุมาศ ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 4 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 1 พระองค์
4.หัสดินทร พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหัสดินทร์ กรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล หัสดินทร ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 2 พระองค์
5.นวรัตน พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล นวรัตน ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 7 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 5 พระองค์
6.ยุคนธรานนท์ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคนธร ทรงเป็นต้นราชสกุล ยุคนธรานนท์ ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 2 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 4 พระองค์
7.โตษะณีย์ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโตสินี ทรงเป็นต้นราชสกุล โตษะณีย์ ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 6 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 10 พระองค์
ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับ
สามัญชน 2 พระองค์
8.นันทวัน พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านันทวัน ทรงเป็นต้นราชสกุล นันทวัน ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 2 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 1 พระองค์
9.พรหเมศ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรหเมศ ทรงเป็นต้นราชสกุล พรหเมศ ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 2 พระองค์
10.จรูญโรจน์ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ ทรงเป็นต้นราชสกุล จรูญโรจน์ ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 13 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 4 พระองค์
11.สายสนั่น พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสนั่น ทรงเป็นต้นราชสกุล สายสนั่น ณ อยุธยา
ทรงมีหม่อมเจ้าชาย 4 พระองค์