ผ่อนกฎแบงก์ต่างชาติ
ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์นับจุดบริการของแบงก์บริษัทลูกธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ เน้นสอดคล้องสภาพแวดล้อมทางการเงินเปลี่ยน
ธปท.กำหนดหลักเกณฑ์นับจุดบริการของแบงก์บริษัทลูกธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ เน้นสอดคล้องสภาพแวดล้อมทางการเงินเปลี่ยน
น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามแทนผู้ว่าการ ธปท.ในการส่งหนังสือเวียนไปยังธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศทุกแห่ง รวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศทุกแห่ง เกี่ยวกับการประกาศเรื่องจำนวนและการนับจุดให้บริการของธนาคารเหล่านี้
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการให้บริการทางการเงินในประเทศที่เปลี่ยนไป ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (ตั้งแต่ 6 มี.ค. 2561)
สำหรับรายละเอียดของประกาศได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนและการนับจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศให้มีความชัดเจน ครอบคลุมการนับตามลักษณะธุรกรรม โดยในกรณีทั่วไปธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร ต่างประเทศ ลงวันที่ 7 มิ.ย. 2556 ให้มีจุดบริการได้ไม่เกิน 40 แห่ง ส่วนสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ สามารถมีจุดบริการได้ไม่เกิน 3 แห่ง
ด้านธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศและสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามความตกลงเขตการค้าเสรีที่ไทยเป็นภาคี สามารถมีจุดให้บริการได้ตามจำนวนที่ตกลงระหว่างคู่เจรจา
นอกจากนี้ ในประกาศฉบับใหม่ยังได้ระบุด้วยว่า การให้บริการ 10 ประเภท จะไม่นับเป็นจุดให้บริการคือ 1.การให้ บริการผ่านช่องทางดิจิทัลและโทรศัพท์ 2.การให้บริการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ 3.การให้บริการรับชำระเงินทางอิเล็ก ทรอนิกส์แทนผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ หรือเจ้าหนี้ 4.การให้บริการผ่านตัวแทนรับชำระเงิน 5.การให้บริการผ่านเครื่องรับฝากหรือถอนเงินสดอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นผ่านระบบเอทีเอ็ม พูล หรือเครือข่ายอื่น
6.การให้บริการผ่านตัวแทนจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายใหญ่ 7.การให้บริการผ่านช่องทางธนาคารนอกสถานที่ 8.การให้บริการผ่านตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ที่แต่งตั้งก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ 9.การให้บริการผ่านสำนักงานใหญ่กรณีธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และ 10.การให้บริการอื่นๆ ตามที่ ธปท.เห็นสมควร