posttoday

ชงเลิกลดหย่อนภาษีคนซื้อ "แอลทีเอฟ"

03 เมษายน 2561

แนะรัฐยกเลิกลดหย่อนแอลทีเอฟ มีแต่คนรวยได้ประโยชน์ ชี้ยกเลิกแล้วช่วยดึงรายได้ 9,000 ล้าน กลับไปช่วยคนจนได้

แนะรัฐยกเลิกลดหย่อนแอลทีเอฟ มีแต่คนรวยได้ประโยชน์ ชี้ยกเลิกแล้วช่วยดึงรายได้ 9,000 ล้าน กลับไปช่วยคนจนได้

น.ส.ดวงมณี เลาวกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย ครั้งที่ 13 “อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร?” ว่า อยากเสนอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) เพราะคนที่ได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มผู้มีรายได้สูง จากข้อมูลวิจัยพบว่าสัดส่วนผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนแอลทีเอฟอยู่ในกลุ่มคนรวยสุด คือรายได้มากกว่า 20 ล้านบาท ถึง 82% ไม่เป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อย คือรายได้ต่ำกว่า 5 แสนบาท ซึ่งกลุ่มนี้ใช้สิทธินี้แค่ 2% เท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐต้องเสียรายได้จากการลดหย่อนแอลทีเอฟเกือบ 9,000 ล้านบาท หากยกเลิกลดหย่อนแอลทีเอฟรัฐก็สามารถนำรายได้ส่วนนี้ไปแก้ปัญหาความยากจน ทำประโยชน์ด้านอื่นได้มากขึ้น โดยที่การยกเลิกลดหย่อนแอลทีเอฟจะไม่กระทบการพัฒนาตลาดทุน เพราะปัจจุบันตลาดทุนพัฒนาไปมากแล้ว และมีทางเลือกลงทุนหลากหลาย

ขณะที่การลดหย่อนภาษีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 3,700 ล้านบาท ยังสนับสนุนให้มีต่อไป เพราะเป็นการส่งเสริมโครงข่ายคุ้มครองทางสังคมระยะยาว สอดคล้องกับการเตรียมความพร้อมไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

ด้านการลดหย่อนจากการบริจาค โดยเฉพาะเพื่อการศึกษายังมีประโยชน์ควรคงไว้ โดยที่ผ่านมามียอดบริจาคหักลดหย่อนปีละกว่า 800 ล้านบาท รัฐมีรายจ่ายจากการลดหย่อนส่วนนี้กว่า 300 ล้านบาท ก็ถือเป็นการลดหย่อนที่คุ้มกว่าเงินที่รัฐสูญเสียไป

น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังเก็บได้ไม่ครอบคลุม รัฐจำเป็นต้องขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยข้อมูลที่ได้มา กลุ่มคนมีรายได้ปีละ 1-4 ล้านบาท เสียภาษีมากที่สุดเทียบกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นไปตามหลักความสามารถจ่าย แต่หากจะให้เป็นธรรมมากขึ้นต้องดึงคนที่ควรต้องเสียภาษีเข้ามาสู่ฐานภาษีให้ได้ นอกจากนี้รัฐควรศึกษาว่ารายจ่ายผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่ให้ไปมีผลต่อผู้เสียภาษีแต่ละขั้นเงินได้อย่างไรและควบคุมรายจ่ายให้ดี

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากมองการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ คงไม่ใช่แง่รายได้ภาษี แต่ต้องมองที่การใช้จ่ายของรัฐด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการใช้จ่ายของรัฐทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น เพราะรายจ่ายต่างๆ ที่ภาครัฐมี ประโยชน์ลงไปอยู่ที่กลุ่มคนมีรายได้สูงมากกว่าคนจน เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง และรายจ่ายบางอย่างก็ควรจะไปลดบ้าง เช่น รายจ่ายด้านความมั่นคง