posttoday

ความยอกย้อนของจินดามณี

08 เมษายน 2561

งานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้ นอกจากงานของรอมแพงจะขายดิบขายดีแล้ว

โดย กรกิจ ดิษฐาน

งานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้ นอกจากงานของรอมแพงจะขายดิบขายดีแล้ว ยังมีจินดามณีนี่แหละที่ผมเห็นเกลื่อน ตอนเยี่ยมบูธกรมศิลป์มีคนถามพอดี พอดีได้ข่าวว่ากำลังจะเอามาขายช่วงท้ายๆ งาน แสดงว่าฮอตจริง

เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าที่บ้านผมก็มีจินดามณีเหมือนกัน แต่เป็นฉบับสมุดไทย ตัวเขียนหรดาล เป็นฉบับที่ดีงามน่าหวงแหน เพราะขึ้นต้นมาก็บอกเสร็จสรรพว่า “จินดามุนีนี้ พระโหราธิบดีเดอมอยู่เมืองสุกโขไทย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายน์เป็นเจ้าลพบุรีย์” แสดงว่าไม่ใช่จินดามนีฉบับที่เขียนโดยคนอื่น แต่เป็นของพระโหราธิบดีในบุพเพสันนิวาส เอ๊ย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จินดามนีมีหลายฉบับ เนื้อความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วว่าด้วยการฝึกให้เป็น “นายภาษา” คือกวี มีทั้งอภิธานศัพท์ ฉันทลักษณ์ กลบท ฯลฯ ในสมัยอยุธยาคนไทยเป็นพวกเจ้าบทเจ้ากลอน ดังในบันทึกของลาลูแบร์ก็พรรณนาไว้ว่าคนไทยมีปฏิภาณกวีเป็นยอด แต่จินดามณีไม่ใช่ตำราแต่งกลอนสด หากซับซ้อนกว่านั้นมาก และอ่านไม่สนุก (หรือไม่รู้เรื่อง) ถ้าไม่ใช่กวีเตรียมจะรับราชการ

คำว่า “จินดามณี” แปลว่าแก้วสารพัดนึก ซึ่งท่านผู้แต่งอธิบายไว้แล้วว่า ความรู้นี้เปรียบเหมือนแก้วสารพัดนึก

แต่ท่านไม่ใช่คนที่คิดคำว่าจินดามณี เพราะคำคำนี้เป็นชื่อตำราประเภทเวทางคศาสตร์ของพวกพราหมณ์ (พระโหราธิบดีนี้ก็เป็นพราหมณ์)

ในชมพูทวีปมีตำราที่ใช้คำว่าจินดามณีหลายเล่ม ส่วนใหญ่เป็นไวยากรณ์ ที่เป็นนิติศาสตร์และโหราศาสตร์ก็มี และใช้เป็นสร้อยนามมากว่าชื่อโดดๆ เช่น อันธรศัพทจินตามณี (ไวยกรณ์ภาษอันธระ) ไวยากรณจินตามณี (ไวยากรณ์ภาษากันนาฑ) และอภิธานจิตามณี (สารานุกรมวรรณคดีทมิฬ) และอีกมากมายเหลือคณานับ

ผมสังเกตว่าจินดามณีส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับอักษรศาสตร์มักเป็นภาษาอินเดียใต้ การที่พระโหราธิบดีเลือกใช้คำว่า “จินดามณี” เป็นชื่อหนังสือ ไม่แน่ว่าอาจเป็นเพราะท่านมีเชื้ออินเดียใต้ ดังในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต ระบุว่าพราหมณ์อยุธยามาจากเมืองรามราชทางอินเดียใต้

ส่วนเหตุที่ใช้คำว่า “จินดามณี” เป็นชื่อหนังสือ ไมเคิล ไรท์ ปราชญ์ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องสิงหล อินเดียใต้และสยามผู้ล่วงลับ ได้อธิบายไว้ว่า เพราะจินดามณีหมายถึงพระสุรัสวดี ผู้เป็นเทพีแห่งความรู้และสรรพวิชา ทรงมีดวงแก้วสารพัดนึกเป็นอุปกรณ์ ในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี ก็ยังประเดิมพจน์ด้วยการไหว้พระแม่สุรัสวดีก่อน

ผมเลยคิดว่าจินดามณีไม่น่าจะใช้แบบเรียนอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นคู่มือสำหรับวิชาเจ้าขุนมูลนายหรือพวกเสมียนหลวงมากกว่า แต่เนื้อหาของจินดามณีไม่ได้อ้างถึงตำราอินเดียใต้ ด้วยฉันทลักษณ์เป็นแบบบาลี แจกสระแบบไทย ซึ่งมันแปลกเพราะจบบทผันอักษรปุ๊บ เป็นการเปิดตัวผู้เขียน (ดังในภาพ) ว่าเป็นใคร (ชาวสุโขทัยและต่อมาบอกว่าเป็นชาวโอฆบุรี) ในรัชกาลใด และแต่งและถวายใคร

แสดงว่าอาจเป็นการนำต้นฉบับต่างๆ มาผสมกันหลังเสียกรุงก็เป็นได้ ต้นฉบับของพระโหราธิบดีอยู่ช่วงท้ายซึ่งว่าด้วยฉันทลักษณ์ ส่วนต้นฉบับแรกมันง่ายเหมือนการสอนนักเรียนทั่วไป น่าจะเป็นการนำมาต่อยอดของคนรุ่นหลัง ส่วนฉบับของผมเริ่มต้นก็อย่างที่เห็นภาพ ว่าด้วยฉันทลักษณ์ล้วนๆ

จะขอยกเนื้อหาส่วนที่คาดว่าเป็นของพระโหราธิบดีท่านแต่งมาสักเล็กน้อย เพราะมีคนถามผมว่ามีข้อสังเกตอย่างไร จะได้ซื้อถูกเล่ม

เนื้อความตอนต้นภาคว่าด้วยฉันทลักษณ์ ความว่า “จินดามุนีนี้ พระโหราธิบดีเดิมอยู่เมืองสุกโขไทย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายน์เปนเจ้าลพบุรีย์” และเริ่มต้นบทนำว่า “อันว่ามุนีนารรถนักปราชญ์ผู้ใด ใครจักเรียบระเบียบอรรถาภิปราย นิยายกาพย์กลอน ฉันทพิศาลเรียบอรรถด้วยรัดสะฑิฆะ กลระเบียบระบอบปรกอบศรับทามหานิทาน ตระการด้วยพฤษโตไทย ไตรคำภีรสาสตราคมประสมอรรถ ให้รู้จักกฤตยการดังนี้”

โปรดสังเกตว่า พระโหราธิบดีเอ่ยถึง “พฤษโตไทย” ซึ่งน่าจะหมายถึงวุตโตทัยปกรณ์ ซึ่งเป็นตำราฉันทลักษณ์ในภาษาบาลีฝ่ายพุทธศาสนา และยังเอ่ยถึง “ไตรคำภีรสาตราคม” ซึ่งอาจหมายถึงตำราในฝ่ายไสยศาสตร์ หรือศาสนาพราหมณ์

สำหรับใครจะไปซื้อจินดามณีมาอ่าน โปรดสังเกตนะครับว่าเป็นฉบับพระโหราธิบดีหรือเปล่า เพราะมันมีหลายฉบับทั้งฉบับสมัยกรุงเก่าและสมัยกรุงเทพ