posttoday

ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น กังวลรายจ่ายพุ่ง

12 เมษายน 2561

ตัวเลขดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน เดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.6 ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การค้าโลกที่ทวีความซับซ้อน

ตัวเลขดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน เดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.6 ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การค้าโลกที่ทวีความซับซ้อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานตัวเลขดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.6 ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การค้าโลกที่ทวีความซับซ้อนและอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในทางใดทางหนึ่ง ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยบวกภายใน ประเทศใหม่ๆ มากระตุ้น นอกจากนี้ครัวเรือนยังมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวตามกระแสนิยม รวมถึงการวางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.3  จากการ คาดการณ์ของครัวเรือนในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามช่วงเทศกาล รวมถึงความกังวลของครัวเรือนต่อระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศหลังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับช่วงไตรมาส 2/2561 ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศหลังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำราคาสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงกดดันรายได้ครัวเรือนเกษตร รวมถึงสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจส่งผลต่อการส่งออกไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2561 (ม.ค.-มี.ค.) ยังได้รับแรงสนับสนุนหลักมาจากภาคต่างประเทศ ทั้งในด้านการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงให้ภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงไตรมาส 4/2560 มากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ภาพเศรษฐกิจไทยผูกติดกับภาพเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การค้าโลกทวีความซับซ้อนจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ที่ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะนำไปสู่สงครามการค้าโลก และอาจจะส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ ทำให้ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน มี.ค. 2561 ที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 45.6 จากระดับ 46.3 ในเดือน ก.พ. 2561 ครัวเรือนยังมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) ที่เพิ่มขึ้นจากการมีรายจ่ายพิเศษอย่างการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากบุตรหลานปิดภาคเรียนประกอบกับกระแสอนุรักษ์ความเป็นไทย

นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้โดยเฉลี่ยจะค่อนข้างทรงตัวจากเดือน ก.พ. 2561 แต่ด้วยความถี่ของการปรับขึ้นราคาในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. 2561 จำนวน 3 ครั้ง จึงทำให้ครัวเรือนสะท้อนมุมมองที่เป็นกังวลมากขึ้นต่อระดับราคาพลังงานในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในปัจจุบันยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อมุมมองของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2561) สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ในเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 47.1 ในเดือน ก.พ. 2561

นอกจากนี้ ครัวเรือนยังคาดว่า จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอย สังสรรค์ ท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการใช้จ่ายของผู้ปกครองในการซื้ออุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนให้บุตรหลานก่อนเปิด ปีการศึกษาใหม่ ซึ่งเมื่อทำการสำรวจเพิ่มเติมพบว่า ประเด็นเศรษฐกิจที่ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดส่วนใหญ่กังวลว่าจะต้องเผชิญในช่วงไตรมาส 2/2561 (เม.ย.-มิ.ย.) ยังเป็นในเรื่องของภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนมองว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือน มี.ค. 2561 จะเห็นว่าครัวเรือนบางส่วนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวทั้งในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การใช้จ่ายเหล่านี้ของครัวเรือนจะหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และส่งผลบวกต่อจีดีพีในระยะถัดไป  โดยสรุป ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือน มี.ค. 2561 และในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากประเด็นร่วมเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เป็นสำคัญ โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยวที่เป็นไปตามเทศกาลและกระแสนิยม ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของครัวเรือนคาดว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ทั้งนี้ ยังมีหลายประเด็นที่ยังต้องติดตามในช่วงไตรมาส 2/2561  ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศหลังมีการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นมา ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกรมีชีวิต ฯลฯ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันรายได้ครัวเรือนเกษตร ทิศทางการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน หลังสหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนราว 1,300 รายการ มูลค่าการนำเข้าราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 15 พ.ค. 2561 และมีการประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติม โดยมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่า ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยคงมีจำกัดผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิตในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีน แต่ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด