กองทุน LTF เงินไหลออก
บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกปิดไตรมาสแรกปี 2561 เป็นหนังคนละม้วนกับตอนเปิดต้นปีที่เต็มไปด้วยความสดใส
โดย พูลศรี เจริญ
บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกปิดไตรมาสแรกปี 2561 เป็นหนังคนละม้วนกับตอนเปิดต้นปีที่เต็มไปด้วยความสดใส โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยในเดือน ม.ค. ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่เปิดทำการซื้อขายในปี 2518 โดยปิดที่ระดับ
1838.96 จุด
ครั้นย่างเข้าสู่เดือน ก.พ. จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. นักลงทุนทั่วโลกกลับต้องเผชิญกับความผันผวนครั้งใหญ่ จากปัจจัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐ (บอนด์ยิลด์) ที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเรียกภาษีจากจีนเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า
สำหรับสถานะกองทุนลดหย่อนภาษี 2 ประเภท คือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) รายงานว่า กองทุนในกลุ่ม LTF ยังคงเป็นไปในลักษณะเดิมเหมือนเช่นทุกๆ ปี นั่นก็คือผู้ลงทุนทยอยขายทำกำไรเมื่อครบกำหนด
ทั้งนี้ ไตรมาสแรก กองทุน LTF มีเงินไหลออกสุทธิกว่า 13,713 ล้านบาท
ขณะที่พบว่าเป็นเงินไหลออกในเดือน ม.ค.มากที่สุดถึง 12,533 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลตอบแทนที่น่าพอใจ จึงทำให้กองทุนที่ครบอายุมีการไถ่ถอนเงินออก อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ในช่วงเดือน ม.ค.ด้วย
หากนับผลตอบแทนการลงทุนในกลุ่ม LTF ณ สิ้นเดือน มี.ค. ย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ย 3.46% และ 7 ปี เฉลี่ย 8.88% ต่อปี
ขณะที่กองทุน RMF นั้น มอร์นิ่งสตาร์ฯ ระบุว่า กลับมีเงินไหลเข้าสุทธิ 904 ล้านบาท สวนทางกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว (ไตรมาสแรกของปีที่แล้วเงินไหลออกประมาณ 434 ล้านบาท) โดยมีเงินไหลเข้าในกลุ่มสินทรัพย์ประเภทหุ้น ในขณะที่มีเงินไหลออกจากสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งกองทุน LTF และ RMF นั้นยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของกองทุน LTF ที่หลายฝ่ายกังวลถึงแรงเทขายช่วงต้นปี ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงว่านักลงทุนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มองการลงทุนในกองทุน LTF หรือ RMF เป็นเพียงเรื่องของการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่มองเห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนในระยะยาวอย่างแท้จริงมิเช่นนั้นทุกคนคงขาย LTF หรือ RMF กันไปหมดแล้วเมื่อลงทุนมาครบตามกำหนดกฎเกณฑ์
ปิดไตรมาสแรกของปีนี้ LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.81 แสนล้านบาท และ RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.55 แสนล้านบาท
สำหรับบริษัทจัดการกองทุนที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 5 อันดับแรกของกองทุน LTF มีดังนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง 27.93% บลจ.กสิกรไทย 21.20% บลจ.กรุงศรี 16.50% บลจ.ไทยพาณิชย์ 11.82% และ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่งตลาด 6.21% โดยทั้ง 5 บลจ.มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในสัดส่วนสูงถึง 83.67% ของตลาดทั้งหมด
ด้านกองทุน RMF บลจ.ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 5 อันดับ มีดังนี้ บลจ.บัวหลวง 27.88% บลจ.กสิกรไทย 23.87% บลจ.ไทยพาณิชย์ 12.23% บลจ.กรุงศรี 11.71% และ บลจ.ทหารไทย 5.37% โดยทั้ง 5 บลจ.มีสัดส่วนสูงถึง 81.06% ของตลาดรวม
สำหรับทิศทางการลงทุนจากนี้ ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการสายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย บอกว่ายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี ซึ่งจะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มทยอยเข้าสู่ระบบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา การบริโภคภายในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว รวมถึงสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มธนาคารมีการปรับประมาณการรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลง อาจส่งผลให้ประมาณการเติบโตของกำไรของตลาดโดยรวมลดลง บลจ.กสิกรไทย จึงคาดว่าเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2561 อาจมีการปรับลดลงมาอยู่ในช่วง 1,800-1,850 จุด บนปัจจัยพื้นฐานที่ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ปี 2561 ที่ประมาณ 16-16.5 เท่า ดังนั้นผู้ลงทุนยังสามารถอาศัยจังหวะทยอยเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นไทยเพิ่มเติมได้