สัตว์วิปลาส
สัตว์ประหลาดตัวยืนพื้นของสังคมอเมริกัน ก็คือ ไอ้ตีนโต หรือ Bigfoot ว่ากันว่า มันเป็นหนึ่งใน “วัฒนธรรมป๊อป” ของอเมริกาเลยทีเดียว
โดย ปริญญา ผดุงถิ่น
สัตว์ประหลาดตัวยืนพื้นของสังคมอเมริกัน ก็คือ ไอ้ตีนโต หรือ Bigfoot ว่ากันว่า มันเป็นหนึ่งใน “วัฒนธรรมป๊อป” ของอเมริกาเลยทีเดียว
อาจเทียบเคียงได้กับ “วัฒนธรรมปอบ” แถวอีสานบ้านเรา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีการจับผีปอบกันอยู่
แต่ในสารคดี “ลวงหลอนโลก” อย่าง Mountain Monsters แห่ง Animal Planet ตัวบิ๊กฟุตยังมีแตกหน่อเป็นหลายเผ่าหลายก๊ก บางตัวสูง 7 ฟุต บางตัวสูง 10 ฟุต น้ำหนักเท่าโน้นเท่านี้ ทางรายการบรรยายไว้เสร็จสรรพ
ผมดูแล้วก็เอิ่ม มีใครในโลกเคยจับบิ๊กฟุตมาชั่งน้ำหนักเหรอ?
นอกจากบิ๊กฟุต ยังมีสัตว์ประหลาดในตำนานตัวอื่นๆ บางตัวดูยังไงก็เหมือนสัตว์เลื้อยคลานบินโลกล้านปี “เทอราโนดอน” บางตัวมีปีกค้างคาว ละม้ายคล้ายเวตาลของไทย
บางตัวก็บิ๊กฟุตแบบเดิมๆ ที่เพิ่มเติม คือมีเขาใหญ่งอกบนหัว สไตล์แกะ Bighorn ไอ้นี่แสบนัก พุ่งชนรถจี๊ปของพรานจนตกถนน กระจกหน้าแตกเป็นรูปเขาแกะ!
หลังจากเขียน “รีวิว” Mountain Monsters ตอนแรกไป หลายคนมาเมนต์ประมาณว่า รายการแบบนี้ไม่เห็นแปลกอะไร รายการทีวีบ้านเราก็ยังมีพวกอวดผี จิตสัมผัส
แต่ผมเชื่อว่าในรายละเอียด มีสิ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ การเข้าไปสำรวจผีในสถานที่น่ากลัวทั้งหลายแบบรายการทีวีไทย มีแต่บรรยากาศหลอนๆ กับเรื่องเล่าชวนขนลุก ไม่น่าจะมี “ตัวผี” มาเข้ากล้อง (ถ้าไม่ใช่ตามนี้ก็ขออภัยนะครับ เคยดูรายการพวกนี้แค่แวบๆ ไม่กี่หน)
ต่างจาก Mountain Monsters ที่ทำเสียจริงจังเกินเหตุ มีทั้งช็อตหน้าบิ๊กฟุตโผล่ทางหน้าต่าง ช็อตมือบิ๊กฟุตล้วงเข้ามาในกระท่อม
อันนี้มันคือการก้าวข้ามเส้นแบ่งแล้ว จากสารคดีพิสูจน์ความลี้ลับ มาเป็นหนังเกรดบี
ลองดูสิ ถ้ามีคนไทยทำสารคดีแบบนี้บ้าง เที่ยวพิสูจน์ตำนานผีป่าต่างๆ ไม่ว่าจะ “เสือสมิง” “ผีกองกอย” “ผีโขมด” “ผีโป่งค่าง” “ผีเปรต” “ผีกระหัง” “เวตาล” “พรายตะคียน” ฯลฯ แล้วทำจนแบบว่าเจอตัวทุกสัปดาห์ วิ่งไล่วิ่งหนีกันให้วุ่นบ้าง ผมว่าโดนด่าไปไม่รอดแน่
หลายปีก่อน ช่อง Animal Planet ก็เคยมีรายการแนวเดียวกัน ชื่อ Finding Bigfoot ทีมนักสำรวจนั้นมีด้วยกัน 4 คน มีมาดความเป็นนักวิชาการมากกว่าทีมพรานลูกทุ่งของ Mountain Monsters
รายการนี้ไม่กล้าอุปโลกน์อะไรมาเข้ากล้อง มีแต่คำพูดชี้นำที่ไร้ตรรกะ เช่น พอเจอกระดูกขากวางเก่าๆ ก็สรุปว่านี่คือเหยื่อของบิ๊กฟุต (เอิ่ม เอาสิงโตภูเขากับหมาป่า ไปไว้ไหน?)
พอ Mountain Monsters ออกอากาศ ทีมเดิมของ Finding Bigfoot คงคันตีนเต็มแก่ เลยทวิตด่าว่า นี่มันรายการโคตรแหล เลยเจอทวิตสวนกลับอย่างเจ็บปวดว่า รายการของมึง เอ๊ย ยู ไม่เห็นเคยเจอตัวอะไร (ไม่เหมือนของข้า เจอเพียบ 555)
ในวงเล็บผมเติมเอง ให้รูปประโยคสมบูรณ์ อิอิ
ทั้งยังแดกซ้ำได้แสบสันว่า Finding Bigfoot นี่มัน Losing Bigfoot ชัดๆ (บิ๊กฟุตขี้แพ้)
ผมเชื่อว่างานนี้ ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ Finding Bigfoot เคยแหลหลอกคนดูใช่ไหม งั้น Mountain Monsters เอามั่ง แต่จัดหนักกว่า
ผลก็เลยอยู่ได้ยาวถึง Season 7 เลยเชียว ไม่สนใจคำถากถางว่าเป็นรายการ “ที่สุดของความแหล” Fakest of the Fake
ตามป่าเขาของอเมริกา อาจมีเรื่องราวบิ๊กฟุตเยอะแยะจริง แต่ที่ผ่านมาที่มีความพยายามพิสูจน์ความจริงกัน ก็จะไปสุดทางที่ Hoax หรือการแหกตาหลอกกันแทบทั้งนั้น ทั้งหลอกเล่นเอามัน และหลอกหาเงิน
อย่างช่วงที่ Finding Bigfoot ออกฉายอยู่ ก็เคยเกิดเหตุรถชนคนเมาตายคาถนนผ่านป่า คนตายสวมชุดขนรุงรังของพวกสไนเปอร์ เพื่อจะหลอกคนว่าเป็นบิ๊กฟุต กลายเป็นข่าวฮาสนั่นโลก
ถ้าไม่ใช่เรื่องแหกตากัน ก็เป็นเรื่องของการ “จำแนกผิด” เพราะหมีกรีซลี่ หมีดำ เวลายืนก็สูงใหญ่แนวบิ๊กฟุต มีขนรุงรังเช่นกัน
ป่าอเมริกามีการใช้กล้องดักถ่ายที่หนาแน่นมากจากบรรดาพรานทั้งหลาย ถ้าบิ๊กฟุตมีจริง ต้องเสร็จกล้องดักถ่ายไปนานแล้ว
ไม่ต้องให้ใครมาวิเคราะห์หรอก ผมนี่แหละ ฟันธง!