ฮาร์วีย์ ไคเทล นักแสดง 5 ทศวรรษ
แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ 78 ปี ฮาร์วีย์ ไคเทล สำหรับนักดูหนังตัวกลั่นยากนักที่จะไม่รู้จักนักแสดงที่ยืนหยัดในอาชีพมากว่า 5 ทศวรรษ
โดย ปณิฏา
แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ 78 ปี ฮาร์วีย์ ไคเทล สำหรับนักดูหนังตัวกลั่นยากนักที่จะไม่รู้จักนักแสดงที่ยืนหยัดในอาชีพมากว่า 5 ทศวรรษคนนี้ นับตั้งแต่ยุคทองของผู้กำกับ อย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Mean Streets, Taxi Driver และ The Last Temptation of Christ) เอเบล เฟอร์รารา (Bad Lieutenant) ริดลีย์ สกอตต์ (Thelma & Louise) ปีเตอร์ เยตส์ (Mother, Jugs & Speed) เควนติน ทารันติโน (Reservoir Dogs และ Pulp Fiction) เจน แคมเปียน (The Piano) โรเบิร์ก รอดริเกซ (From Dusk till Dawn) จนถึง เวส แอนเดอร์สัน (Moonrise Kingdom, The GrandBudapest Hotel และ Isle of Dogs)
ฮาร์วีย์ ไคเทล เริ่มต้นอาชีพนักแสดงกับละครบรอดเวย์ ก่อนจะได้รู้จักกับมาร์ติน สกอร์เซซี ในการไปออดิชั่นหนังเรื่องแรกของผู้กำกับคนดัง Who’s That Knocking at My Door (1967) ก่อนจะกลายเป็นนักแสดงที่ผูกปิ่นโตกับมาร์ติน พอๆ กับโรเบิร์ต เดอ นีโร ไม่ว่าจะเป็น Alice Doesn’t Live HereAnymore, Mean Streets, Taxi Driver และ The Last Temptation of Christ
ตลอดเวลากว่า 5 ทศวรรษในอาชีพฮาร์วีย์ยังมีส่วนในช่วงตอนสำคัญของแวดวงจอเงินฮอลลีวู้ดมากมาย จะเรียกว่า เขาเป็นราชาแห่งหนังดราม่าแนวอาชญากรรมก็ยังได้ ซึ่งหากจะพูดถึงผลงานของ ฮาร์วีย์ ไคเทล ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง น่าจะหนีไม่พ้น 5 เรื่องต่อไปนี้
1. Bad Lieutenant(เอเบล เฟอร์รารา กำกับ, ปี 1992)
เรื่องราวของตำรวจนิวยอร์กเลวๆ ที่ยุ่งเกี่ยวกับการเก็บส่วย ยาเสพติด โสเภณี ฯลฯ ที่พยายามจะกลับตัวเป็นคนดี หลังจากที่ต้องไปสืบสวนคดีข่มขืนแม่ชีสาว ทว่า ความเลวทั้งหลายที่เคยทำมาในอดีตก็คอยตามมาหลอกหลอนเขาอย่างไม่เลิกรา
บทบาทตำรวจนิวยอร์กผู้ฉาวโฉ่ ได้การยอมรับว่าเป็นบทบาทที่ดีที่สุดในอาชีพนักแสดงของ ฮาร์วีย์ ไคเทล เป็นบทบาทที่มีความซับซ้อนอยู่ในตัว ขณะที่นอกบ้านเขาทำชั่วแทบทุกรูปแบบของการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทว่า ในบทบาทของความเป็นพ่อนั้นเป็นคนละหน้ามือ
ว่ากันว่า เบื้องหลังเบื้องลึกนั้น เขามีเวลาเตรียมตัวก่อนเปิดกล้องเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากที่ตัวแสดงเดิม อย่าง คริสโตเฟอร์ วอล์กเคน ถูกถอดออกจากบท แถมเมื่อเขารับบทมาอ่านได้ 15 หน้าแรก ฮาร์วีย์โยนทิ้งทันที พร้อมสบถ “โคตรห่วยเลย”
เคราะห์ดีที่เขาให้โอกาสมันอีกครั้งด้วยการอ่านต่อ และฉากที่แม่ชีโดนข่มขืนก็ดึงดูดให้เขาตกปากรับแสดง หนังเรื่องที่ทำให้เขาได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยม ที่เทศกาลแฟนตาปอร์โต ในโปรตุเกส และเวทีอินดิเพนเดนต์ สปิริต อวอร์ด
2. Reservoir Dogs(เควนติน ทารันติโน กำกับ, ปี 1992)
แก๊ง 6 คน ได้รับการว่าจ้างให้ปล้นเพชรที่ร้านจิวเวลรี่ แต่ละคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติการและการแยกย้าย เลยต้องปลอมชื่อตัวเองเป็นสีสันต่างๆ การปล้นต้องกลายเป็นผิดแผน เพราะคนในแก๊งเกิดตายไปซะสองราย ทำให้คนที่ยังเหลือเริ่มสงสัยว่า จะต้องมีสายตำรวจปลอมตัวมาแทรกซึมอย่างแน่นอน
หนังเรื่องนี้สร้างชื่อของ เควนติน ในฐานะผู้กำกับไฟแรง และกลายเป็นผู้กำกับมากฝีมือไปในทันที หลังจาก Reservoir Dogs ส่วนหนึ่งก็มาจากแคสต์ที่เขาเลือกทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์วีย์ ไคเทล, ทิม รอท, ไมเคิล แมดเซน, สตีฟ บุสเซมี และคริส เพนน์ -- ที่แต่ละรายมีการผูกปิ่นโตกับ เควนติน และเครือข่ายของเขาไปอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะเป็นหนังทุนต่ำสุดๆ ถึงขนาดที่นักแสดงทุกคนต้องออกเงินซื้อเสื้อผ้ามาใส่เข้าฉากเอง หากหนังเรื่องนี้นับว่ายกระดับการแสดงของเขาขึ้นมาอีกขั้น กับบทบาท “มิสเตอร์ไวท์” ที่แสดงให้เห็นว่า คนชื่อ ฮาร์วีย์ ไคเทล ทำ “อะไร” ได้มากกว่าที่เคยรู้ๆ กัน
3. Fingers(เจมส์ โทแบ็ค กำกับ, ปี 1978)
อีกเรื่องกับการร่วมงานในหนังเรื่องแรกของผู้กำกับมือใหม่ อย่าง เจมส์ โทแบ็ค เรื่องราวของมนุษย์ผู้สับสน ผู้กำลังติดกับดักทางความคิด ว่าจะเลือกระหว่างอาชีพที่มอบรายได้อย่างเป็นคนตามทวงหนี้ หรือจะทำตามความฝันของตัวเองที่ต้องการเป็นนักเปียโนดี
ฮาร์วีย์ รับบทเป็น จิมมี ลูกชายของเศรษฐีเงินกู้ชาวอิตาเลียน ที่ให้เขาเป็นคนตามทวงเงินจากลูกหนี้ทั้งหลายในทุกวิถีทาง จิมมี ต้องทนทรมานกับการเป็นคนสองบุคลิก ในการที่ต้องเลือก ระหว่างใช้นิ้วทำงานสกปรกให้พ่อต่อไป หรือพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนตามความฝันของตัวเอง คาแรกเตอร์จะไปถึงจุดแตกหักในตอนท้ายเรื่อง เมื่อเขาตัดสินใจที่จะทำงานให้พ่อเป็นครั้งสุดท้าย
เป็นอีกบทบาทที่ดีงามของฮาร์วีย์ บทภาพยนตร์ส่งให้เขาได้แสดงศักยภาพในตัวออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการแสดงออกในด้านมืดที่เขาแสนจะถนัด รวมทั้งการตีความตัวละคร จิมมี ออกมาเป็นการแสดงในอย่างเลอเลิศ
4. Mean Streets(มาร์ติน สกอร์เซซี กำกับ, ปี 1973)
ไปออดิชั่นหนังเรื่องแรกของมาร์ติน สกอร์เซซี ฮาร์วีย์ ไคเทล ก็ได้ผูกปิ่นโตกับผู้กำกับคนดังในอีกหลายๆ เรื่องต่อมา จนกระทั่งถึงเรื่องที่กำลังมีคิวเข้าฉายในปีหน้า อย่าง The Irishman (2019) ด้วย
ใน Mean Streets เล่าเรื่องราวชีวิตของ ชาร์ลี เด็กหนุ่มในย่านชุมชนอิตาเลียนของกรุงนิวยอร์ก ที่ต้องต่อสู้กับศีลธรรมในใจ รวมทั้งความสัตย์ซื่อต่อครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรัก
จอห์นนี บอย (โรเบิร์ต เดอ นีโร) เพื่อนรักของชาร์ลี มีชีวิตผูกพันกับหนี้สิน ชาร์ลี พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเขา โดยเฉพาะการต้องรับมือสารพัดรูปแบบกับชาวแก๊งออกเงินกู้
หนังเรื่องนี้ ส่งให้ โรเบิร์ต เดอ นีโร ยกระดับสู่เอ-ลิสต์ ของฮอลลีวู้ด ในขณะที่ฮาร์วีย์ ได้ตอกหมุดความสามารถทางการแสดงให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำตัวเป็น ชาร์ลี พี่ใหญ่ของจอห์นนี บอย นั้นช่างน่าเชื่อว่า นี่คือชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้นในย่านลิตเติ้ล อิตาลี
5. From Dusk Till Dawn(โรเบิร์ต รอดริเกซ กำกับ, ปี 1996)
ผลงานของคู่หู เควนติน ทารันติโน อย่าง โรเบิร์ต รอดริเกซ ที่นำเอาหนังสยองขวัญมาผูกเข้ากับแนวอาชญากรรมได้อย่างงดงาม เมื่อแก๊งลักพาตัวดันมาหยุดพักในที่ที่ไม่ควรมา ในเวลาที่ไม่ควรเป็น...
เซท (จอร์จ คลูนีย์) และริชาร์ด (เควนติน ทารันติโน) ลักพาตัวอดีตหลวงพ่อ (ฮาร์วีย์) และลูกสาว - ลูกชาย มายังไบเกอร์บาร์ที่อยู่ดีๆ หลังพระอาทิตย์ตกดินก็กลายเป็นชุมนุมของผีดูดเลือด
หนังเรื่องนี้ พลิกบทบาท ตั้งแต่พระเอกสุดหล่อผู้เข้มขรึม อย่าง จอร์จ คลูนีย์ ให้กลายเป็นวายร้ายสุดๆ จนได้รับรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยม แซทเทิร์น อวอร์ด บนเวทีออสการ์หนังวิทยาศาสตร์ (ฮาร์วีย์ ได้รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม) และยังมีฉากแดนซ์อันน่าจดจำของ ซัลมา ฮาเย็ก
บทบาทอดีตหลวงพ่อเจค็อบ ฟุลเลอร์ ของฮาร์วีย์ในเรื่อง ดูช่างแตกต่างจากบทวายร้ายในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาของเขา และนับว่าเป็นคาแรกเตอร์ที่ซับซ้อนที่สุดในเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ หลังจากสิ้นศรัทธาในพระเจ้าเมื่อสูญเสียภรรยาไปในอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนต้องมาเผชิญหน้ากับมนุษย์หมาป่าและผีดูดเลือด ท้ายที่สุดก็ต้องสละชีวิตเพื่อช่วยให้ลูกๆ มีชีวิตรอด