เก็บภาษีเหล้าเบียร์ต่ำกว่าเป้า สรรพสามิตชี้สงกรานต์บริโภคน้อยลง
สรรพสามิตเผยยอด 7 เดือนแรก เก็บภาษีแอลกอฮอล์ต่ำเป้ากว่า 6,000 ล้าน หลังผู้ผลิตปรับตัวลดผลกระทบขึ้นภาษี
สรรพสามิตเผยยอด 7 เดือนแรก เก็บภาษีแอลกอฮอล์ต่ำเป้ากว่า 6,000 ล้าน หลังผู้ผลิตปรับตัวลดผลกระทบขึ้นภาษี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในรอบ 7 เดือน (ต.ค. 2560-เม.ย. 2561) ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเก็บภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงมาก เนื่องจากระยะหลังคนไทยดื่มเบียร์และสุราน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปกติจะบริโภคเยอะและจัดเก็บรายได้สูง แต่หลังจากภาครัฐมีมาตรการรณรงค์งดดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ควบคู่ไปกับการจัดโซนนิ่งห้ามดื่มสุราและเบียร์ตามสถานที่เล่นน้ำและสถานีขนส่งต่างๆ ทำให้ยอดขายและการเก็บภาษีน้อยลง
นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากโรงงานผลิตเบียร์ได้ปรับสูตรการผลิตใหม่ โดยลดปริมาณแอลกอฮอล์ เช่น จากเดิม 5% ลดลงเหลือ 3% รวมถึงปรับขนาดเบียร์กระป๋องจาก 350 ซีซี เหลือ 330 ซีซี เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจากการถูกเก็บภาษีเพิ่มเข้ากองทุนผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดีการเก็บภาษีที่ลดลงก็เป็นผลดีในเชิงสังคมและสุขภาพของคนไทย
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า ในเดือน เม.ย. 2561 ภาษีเบียร์เก็บได้ 8,998 ล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมาย 173 ล้านบาท ภาษีสุราเก็บได้ 5,412 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 433 ล้านบาท ขณะที่การเก็บภาษีเบียร์ 7 เดือน เก็บได้ 4.21 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,341 ล้านบาท ภาษีสุรา 7 เดือน เก็บได้ 3.44 หมื่นล้านบาท น้อยกว่าประมาณการ 2,000 ล้านบาท ส่วนภาพรวมภาษีสรรพสามิตทำได้ 3.22 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,289 ล้านบาท ส่วนภาษีที่จัดเก็บรายได้ดีมีภาษียาสูบและรถยนต์ที่สูงกว่าเป้าหมายมาก
สำหรับการเก็บภาษีน้ำมันที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7,000 ล้านบาท สาเหตุมาจากโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุงนอกแผน แต่ในเดือน เม.ย. คาดจะเก็บภาษีน้ำมันได้สูงขี้น เนื่องจากโรงกลั่นกลับมาผลิตน้ำมันได้ปกติแล้ว นอกจากนี้ได้จัดทำแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี โดยให้มีการตั้งด่านตรวจสอบเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันที่ผิดกฎหมาย คาดว่าจะช่วยให้การเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้น จากปกติเฉลี่ยเดือนละ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท