เห็นคอกเหล็กทิ้งขยะของกทม. แล้วคิดถึง ‘ตาวิเศษเห็นนะ’
โครงการจัดการขยะภายใต้ชื่อ “ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา” ของกรุงเทพมหานคร นำโดยท่านผู้ว่าฯ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
โดย วรรณโชค ไชยสะอาด
โครงการจัดการขยะภายใต้ชื่อ “ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา” ของกรุงเทพมหานคร นำโดยท่านผู้ว่าฯ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่การสร้างจุดทิ้งขยะเป็นคอกเหล็กสี่เหลี่ยมบนพื้นฟุตปาท ดูแล้วไม่ค่อยเวิร์กครับ มีคนวิจารณ์ทั่วสังคมถึงประสิทธิภาพและความล้มเหลว
หลายเสียงลงความเห็นว่า จุดทิ้งขยะนี้ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนกรุง และไม่สามารถแก้ปัญหาขยะได้ ซ้ำร้ายยิ่งจะเพิ่มความสกปรกให้แก่พื้นที่นั้นๆ เพราะอาจจะมีน้ำที่ไหลออกมาจากถุงขยะ กลายเป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรค นอกจากนี้การนำฟุตปาทมาทำถังขยะจะทำให้การสัญจรของผู้คนเป็นไปด้วยความยากลำบากหรืออาจเกิดอุบัติเหตุขึ้น
โอ้...ปัญหาเยอะแบบนี้ดูแล้วไม่นานน่าจะมีการล้มเลิกโครงการ
การแก้ไขปัญหาของ กทม.รอบนี้ ทำเอาผมคิดถึงโครงการเมื่อสมัยเป็นเด็กประถมอย่าง “ตาวิเศษเห็นนะ”
โครงการนี้ฝังใจผมตั้งแต่เด็กและทำให้กลายเป็นคนทิ้งขยะลงถังมาตลอดชีวิต (ไม่ได้โม้ครับเรื่องจริง ฮา)
โครงการรณรงค์ให้ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทางที่มี “ลูกตา” เป็นสัญลักษณ์ เกิดขึ้นเมื่อสมาคมสร้างสรรค์ไทยเปิดตัวต่อสังคมครั้งแรก ในปี 2527
นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช เลือกเริ่มต้นรณรงค์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการมองปัญหาใกล้ตัวที่สุด อย่างขยะ และการสร้างความสะอาดให้พื้นที่สาธารณะ
ระหว่างขั้นตอนระดมสมอง หาแนวทางการรณรงค์เรื่อง “ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” โดยตั้งใจให้สอดคล้องและเข้าถึงหัวใจเด็กๆ
คุณหญิงชดช้อย สังเกตดูจากลูกๆ ว่าเด็กๆ ชอบดูการ์ตูน จึงเกิดความคิดจะทำโฆษณาเป็นการ์ตูน พร้อมกับหาโลโก้ เพื่อว่า ในอนาคต 20 ปี 30 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอะไรก็ยังสามารถนำโลโก้นี้ไปใช้ได้
วันหนึ่ง คุณหญิงชดช้อยได้รู้จักกับครีเอทีฟชาวต่างชาติที่อยู่บริษัทโฆษณาชื่อดัง ลินตาส เขาเพิ่งย้ายกลับมาประจำประเทศไทย เมื่อเขารู้ว่าเธอยังหาโลโก้ไม่ได้ จึงเสนอว่า น่าจะใช้ฮีโร่ แบบในหนังเจ็ดสิงห์แดนเสือ (Magnificent Seven) เป็นแนวทาง ในทำนองว่า เมื่อคาวบอยเข้ามาในเมืองเมื่อไหร่ ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน ก็สามารถจัดการได้เรียบร้อย
นอกจากเสนอแนะแล้ว ครีเอทีฟรายดังกล่าวยังออกแบบดวงตานับสิบๆ แบบ ทั้งลักษณะยิ้มและดุให้ลองเลือกดูอีกด้วย
ตอนนั้นสมาชิกสมาคมสร้างสรรค์ไทยช่วยคิดกันต่อจนได้ข้อสรุปว่า ควรใช้ดวงตาดุๆ คอยจ้องมองไม่ให้เราทำผิด จึงพัฒนาต่อจากตาต้นแบบ และใช้ชื่อภาษาไทยว่า ตาวิเศษ ส่วนภาษาอังกฤษเปลี่ยนเป็น Magic Eyes
นั่นคือที่มาและเหตุผลที่ตาวิเศษดุ
ผู้สร้างสรรค์ยังเห็นว่า ดวงตาที่ดูดุ สอดคล้องกับสังคมไทย ซึ่งมีค่านิยมและวัฒนธรรม “รักษาหน้า” ในที่สาธารณะ ดวงตาคู่นี้จึงเป็นทั้ง Group Symbol และ Project Logo โดยมีความหมายว่า เป็นดวงตาที่คอยสอดส่อง ดูแลพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และเมื่อไหร่ที่บ้านเมืองเราสะอาดแล้วจริงๆ ตาวิเศษก็จะเปลี่ยนเป็นตายิ้ม
หลังจากเปิดตัวโครงการนี้ขึ้นมา ก็ได้เริ่มมีการจัดทำกิจกรรมกระตุ้นให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านละครตามโรงเรียน โฆษณาตามช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะเพลงตาวิเศษที่มีเนื้อหาท่อนหนึ่งว่า “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” นั้น ติดหูและความทรงจำของเด็กๆ ที่กลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้อย่างมาก โดยเฉพาะผู้คนอายุ 25-35 ปีในปัจจุบันน่าจะยังจดจำ “ตาวิเศษ” ได้อย่างดี
โครงการมีประโยชน์และฝังลึกลงไปในจิตสำนึกได้แบบนี้ ผมว่าน่าจะหวนกลับมาใช้ในสังคมไทยอีกครั้งครับ
สิ่งเลวร้ายที่สุดของการกระทำไม่ดีก็คือความคุ้นเคย เคยชินจนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ผิดอะไร
“อย่าทิ้งขยะไม่ลงถังจนเป็นนิสัยเลยครับ”