posttoday

กรอบ

27 พฤษภาคม 2561

เช้าวันเปิดเทอม บรรยากาศเดิมๆ วนเวียนกลับมา สภาพการจราจรอันแออัด ความวุ่นวาย เสียงเจี๊ยวจ๊าวปนกระจองอแง

โดย ธนพล บางยี่ขัน

เช้าวันเปิดเทอม บรรยากาศเดิมๆ วนเวียนกลับมา สภาพการจราจรอันแออัด ความวุ่นวาย เสียงเจี๊ยวจ๊าวปนกระจองอแง คละเคล้ากันจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในฤดูเปิดเทอม

เสียงผู้ปกครองท่านหนึ่งแว่วเข้าหูมาแบบไกลๆ แต่พอจับคีย์เวิร์ดได้เป็นคำ อาทิ เรียนรู้ รอบตัว ความสุข ซึ่งไม่รู้ว่าลูกชายตัวเล็กที่กำลังง่วนอยู่กับการผูกเชือกรองเท้าด้วยตัวเองจะรับรู้ความหมายของมันมากน้อยแค่ไหน

ได้ยินอย่างนี้แล้วอารมณ์ความคิดมันพลุ่งพล่านจนน่าตกใจ จนถึงขั้นต้องขอเหลียวกลับไปดูหน้าคุณผู้ปกครอง

บุคลิกภายนอกก็ดูไม่แตกต่างจากคุณพ่อที่มาส่งเด็กคนอื่นๆ แต่จากคำพูด คำจา สะท้อนให้เห็นทั้งรูปแบบมุมมองการใช้ชีวิต ที่แตกต่างจากคนกระแสหลักก็ว่าได้

แน่นอนว่าค่านิยมที่ผ่านมา หลายคนปลูกฝังให้เด็กๆ เรียนเก่งๆ ได้ที่หนึ่ง สอบได้เกรดดีๆ ถือเป็นเป้าหมายที่ง่ายต่อการจับต้อง เด็กๆ ฟังแล้วเข้าใจ มองเห็นเป้าหมายข้างหน้าว่าคืออะไร แม้ในชีวิตจริงการเรียนรู้สิ่งรอบตัวอย่างมีความสุขจะเป็นประโยชน์กับเด็กที่จะใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตเสียมากกว่าเรื่องคะแนน

ยิ่งที่ผ่านมาเราเคยเห็นแนวคำถามข้อสอบของเด็กสมัยนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียด้วยแล้ว การจะปรับหางเสือให้เด็กๆ มุ่งหน้าไปสู่วิถีทางที่จะทำให้ได้คะแนนมากที่สุด อาจทำให้ก้าวไปผิดทิศผิดทาง

ต่างจากเป้าหมายเรื่อง เรียนรู้ หรือความสุข ซึ่งเอาเข้าจริงไม่รู้ว่าจะสามารถหาได้จากสถานศึกษาเวลานี้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้ากับเด็กมากกว่า

การแข่งขัน กวดวิชา เรียนพิเศษ จากที่เคยเป็นเรื่องของเด็กโตๆ ถูกยัดเยียดมาให้เด็กอนุบาล กลายเป็นปัญหาที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอยากแก้ไข จนล่าสุดมีความพยายามที่จะยกเลิกการสอบเข้าชั้น ป.1 แก้ปัญหาความเครียดในเด็ก

ไม่แปลกที่ดัชนีชี้วัดต่างๆ ซึ่งมนุษย์เราเคยคิดค้นกันเพื่อจะได้มีหลักวัดที่จับต้องได้ สุดท้ายจะกลายมาเป็น “กรอบ” ที่พันธนาการตัวเองให้โคจรอยู่รอบดัชนีชี้วัดต่างๆ แถมยังมองข้ามรูปแบบความรู้สึกจริงๆ ที่จับต้องได้ด้วยซ้ำ

หนึ่งในรูปธรรมที่ชัดเจนคือเรื่อง จีดีพี ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีที่นำมาใช้สำหรับการชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าเติบโตมากน้อยแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา และกลายเป็นโจทย์ที่หลายรัฐบาลพยายามในกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อปั๊มตัวเลขจีดีพี อันจะเป็นการยืนยันความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงภาวะกินดีอยู่ดีของประชาชนอีกด้วย

ทว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลังจะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีดีพีที่เติบโตกับสภาพปากท้องของชาวบ้านดูจะไม่ได้ไปทางเดียวกัน จากปัจจัยตัวแปรการคิดคำนวณซึ่งให้น้ำหนักความสำคัญแตกต่างกันไป

ยังไม่รวมกับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมที่แตกต่างกันมาก ในวันที่จีดีพีสูง จึงอาจหมายถึงกลุ่มคนเพียงแค่ลำดับต้นๆ ในสังคมที่จะรับรู้ความกินดีอยู่ดี อันสะท้อนผ่านจีดีพีที่พุ่งสูงขึ้นเท่านั้น

ปรากฏการณ์การไม่สะท้อนสภาพที่แท้จริง จึงเห็นบรรยากาศที่รัฐบาลออกมาการันตีการเติบโตของเศรษฐกิจ สวนทางกับเสียงบ่นของประชาชนที่ยังต้องเผชิญชะตากับปัญหาปากท้องที่แย่ลงเรื่อยๆ

ปัญหานี้ทำให้หลายประเทศเริ่มคิดก้าวพ้นจากกรอบของจีดีพี และปรับเปลี่ยนไปใช้ดัชนีตัวอื่นเพื่อจะได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในสังคมที่ควรจะเป็น

เทรนด์โลกจึงกำลังพูดถึงจีพีไอ (Genuine Progress Indicator) ที่ 20 กว่าประเทศเริ่มปรับใช้ โดยนำเอาปัจจัยเรื่อง เหลื่อมล้ำ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เข้าไปเป็นตัวแปรในการคำนวณ อันจะได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงในดัชนีชี้วัดที่ใช้เป็นเป้าหมายต่อไป

ปัญหาหลายอย่างที่ดูจะแก้กันไม่ตกนั้น บางครั้งเราอาจจะต้องยอมถอยกลับมาตั้งหลักและปรับเปลี่ยนเป้าหมายเสียใหม่เพื่อให้
เดินทางถูกต้องตอบโจทย์ความต้องการมากกว่าวนเวียนอยู่ในกรอบเดิมจนไม่อาจก้าวไปไหนได้