เถรวาทตันตระแห่งอโยธยา
เมื่อไม่นานมานี้ตอนที่กำลังทอดน่องอยู่ในกรุงเก่า เกิดนึกอะไรสนุกๆ ขึ้นมาได้อย่างว่าเจดีย์อยุธยานี่มันดูไม่ลังกาเอาเลย
โดย กรกิจ ดิษฐาน
เมื่อไม่นานมานี้ตอนที่กำลังทอดน่องอยู่ในกรุงเก่า เกิดนึกอะไรสนุกๆ ขึ้นมาได้อย่างว่าเจดีย์อยุธยานี่มันดูไม่ลังกาเอาเลย ดูไปในทางปาละหรือเบงกอล ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแบบตันตระมากกว่า อันที่จริงแม้แต่เจดีย์ทางปักษ์ใต้ผมก็ดูไม่เห็นเป็นลังกา ออกจะเหมือนไปทางเบงกอลมากกว่า แถมค่านิยมเรื่องปริยัติในอยุธยาก็ไม่ค่อยมี เน้นไปทางอิทธิฤทธิ์ (วัชรยานเรียกว่า “สิทธิ”) มากกว่า สมัยอยุธยามีคัมภีร์ปริยัติบาลีนับเล่มได้ แต่ตำราพุทธมนต์คาถามีเป็นร้อย อาจจะเป็นพัน ถ้าไม่เกิดวิกฤตเอาตำราทิ้งน้ำหนีราชภัยสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ผิดจากที่เราถูกสอนๆ กันมาว่าไทยรับพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ แต่อยุธยากลับไม่มีเจดีย์ลังกา ไม่มีธรรมเนียมลังกา แต่มีกลิ่นอายของวัชรยานจากพังคละและกัมโพชอบอวลไปหมด
เรื่องนี้ต้องย้อนไปที่เขมร ท่าน George Groslier ก็ยังสันนิษฐานว่า จตุรพักตร์ของปราสาทบายนควรจะเป็นพระอาทิพุทธะ แบบเดียวกับเจดีย์สวยัมภูวนาถที่เนปาล ตัวปราสาทบายนก็เป็นมณฑลสามมิติ (ซึ่งทิเบตยังปฏิบัติกันอยู่) ส่วนคนที่ทำให้เมืองพระนครกลายเป็นแดนพุทธตันตระ ก็คือคณาจารย์จากเบงกอล เช่น สำนักวิกรมศีล รวมถึงนาลันทาจากพิหารที่หนีภัยพวก “ตุรุษกะ” มายังสุวรรณภูมิ
พุทธตันตระสายหนึ่งขึ้นไปทางยูนนาน ไปรุ่งเรืองในอาณาจักรน่านเจ้า-ต้าหลี่ สายหนึ่งมาทางพุกาม อีกสายหนึ่งมาถึงกัมพูชา แต่จะผ่านกัมพูชาโดยไม่แวะ “กรุงเทพทวารวดี” ได้อย่างไร?
เมืองเขมรน่าจะรุ่งเรืองด้วยพุทธตันตระมานาน มีหลักฐานคือสมัยหนานเป่ย มีพระสงฆ์ฟูนันไปเมืองจีน ทำการแปลคัมภีร์วิมุตติมรรคเป็นภาษาจีน พระสงฆ์ท่านนั้นน่าจะเป็นพระสังฆปาล (僧伽婆羅) ไม่ก็พระมันทรเสน (曼陀羅仙)
คัมภีร์วิมุตติมรรคเป็นตำราปฏิบัติธรรมแบบล้ำลึก มุ่งไปทางดับกิเลสก็ได้ ทางอิทธิฤทธิ์ก็ได้ เป็นตำราของสำนักอภัยคีรีวิหารที่เมืองลังกา ซึ่งเป็นสำนักมหายานท่ามกลางดินแดนเถรวาท พระโพธิธรรม หรือตั๊กม๊อ ก็น่าจะเคยแวะที่อภัยคีรีก่อนจะมาประกาศธรรมและสอนวิทยายุทธ์ที่จีน (บางตำนานว่าท่านแวะปักษ์ใต้หรือมลายูด้วย แล้วถ่ายทอดมวยกับสีลัต)
เชื่อกันว่าพระพุทธโฆษาจารย์น่าจะเคยได้อ่านคัมภีร์วิมุตติมรรคก่อนที่ท่านจะแต่งวิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์อิทธิของฝ่ายเถรวาท Francois Bizot ผู้เชี่ยวชาญตันตระฝ่ายเถรวาท กล่าวว่า ทางเขมรมีตำนานเล่าว่าพระพุทธโฆษาจารย์ท่านเป็นชาวกัมโพช (คนมอญก็ว่าท่านเป็นมอญ) เมื่อกลับมาจากลังกาแล้ว ได้แต่งตำราลับ (คูฬหะ ในภาษาบาลี หรือคุยหะ ในภาษาสันสกฤต) ว่าด้วยพระพุทธมนต์ของฝ่ายมหาวิหารที่ลังกา (คู่ปรับของฝ่ายอภัยคีรี) สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกไว้ว่า พวกตำราคูฬหะในภาษาบาลีมักหมายถึงตำราแก้อรรถอันลี้ลับในทางไวยากรณ์ อาจมิใช่ตำรา “คุยหะ” ในแบบพระพุทธศาสนาฝ่ายสันสกฤต เช่นในทิเบต หรือญี่ปุ่นทุกวันนี้
เมื่อเมืองพระนครเสียแก่อยุธยา ทำการเทครัวชาวเขมรมายังกรุงทวารวดี ทั้งตำราคุยหะแบบมหาวิหาร ตันตระแบบอภัยคีรีวิหาร ตันตระแบบเบงกอล ฯลฯ ก็มาถึงเมืองพระนครแห่งใหม่ คืออยุธยา
สำนักพระอารามสมัยอยุธยาที่ดังๆ ก็ล้วนแต่เก่งในทางพุทธมนต์ เช่น สำนักวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังรุ่งเรืองอยู่ (ทำให้ผมสงสัยว่าตอนกรุงแตก สำนักวัดประดู่คงจะมีความสามารถ “รักษาตัว” จากข้าศึกได้) อย่าว่าแต่วัดประดู่เลย ทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเต็มไปด้วยพระผู้ทรงวิทยาคุณ ถ้าไม่เป็นอรหันต์ก็สายโพธิสัตว์ แต่ผมเดาว่าที่บำเพ็ญโพธิสัตว์มีมากกว่า เพราะเก่งๆ พุทธตันตระทั้งสิ้น พระอริยเจ้าท่านมักไม่เอาทางนี้
พวกพุทธมนต์ทั้งหลายนี่ไม่ใช่เอามาหลอกคนเอาศรัทธาหรือใช้หาทรัพย์ แต่เป็นวิชาโปรดสัตว์ ในคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ (瑜伽師地論) ปริเฉทที่ 38 ว่าด้วยคุณสมบัติที่พระโพธิสัตว์อันพึงแสวงหา เรียกว่า ปัญจวิทยา หนึ่งในนั้นคือจิกิตสาวิทยา โพธิสัตว์จำต้องเรียนการแพทย์ วิชาเภสัช รวมถึงการใช้มนตราเพื่อเยียวยาอาการป่วยไข้ รักษาโรคทางกายของสรรพสัตว์
ไอ้ความป่วยไข้ของสรรพสัตว์นี้มีทั้งความป่วยทางกาย ความป่วยเพราะไม่รู้จักพอ ป่วยเพราะกลัวอันตราย และความป่วยเพราะหลง พุทธมนต์มีฟังก์ชั่นดังนี้แล