วัดพญาภู สำนักสอนบาลีแห่งนครน่าน
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดเดินทางไหว้พระธาตุและวัดที่ จ.น่าน แพร่
โดย สมาน สุดโต
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดเดินทางไหว้พระธาตุและวัดที่ จ.น่าน แพร่ และเชียงราย วันที่ 19-24 พ.ค. 2561 แต่ละวัดและพระธาตุมีตำนานนับหลายร้อยปี โดยเฉพาะ จ.น่าน ที่เติบโตเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงสุโขทัย
คณะทั้งหมดเข้าพักที่โรงแรมกรีนเลควิว รีสอร์ท จ.น่าน รุ่งเช้าคณะบางส่วนไปใส่บาตรพระภิกษุ สามเณร ที่ตลาดตั้งจิตนุสรณ์ ซึ่งมีทั้งภิกษุและสามเณรออกรับบิณฑบาตเป็นกลุ่มๆ ในการนี้ คุณธีรพจน์ รัตนเสถียร คหบดีจาก จ.นครราชสีมา ได้มอบกระยาสารทรสอร่อยจากสระบุรีให้แต่ละท่านนำไปใส่บาตรด้วย
เสร็จจากใส่บาตรก็ไปนมัสการวัดพระธาตุเขาน้อย ซึ่งเป็นจุดชมวิวเมืองน่าน และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้บูชา 1.พระธาตุเขาน้อย 2.พระอุโบสถ ที่เคยเป็นวังเก่าของเจ้าครองนครน่าน ที่มีพระนามว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ต้นสกุล ณ น่าน) ที่หน้าบันจึงจารึกนามเจ้า
ผู้ครองนครน่านไว้ด้วย และ 3.พระพุทธรูปปางลีลา นามว่า พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรี ศรีน่าน หันพระพักตร์ไปยังนครน่าน พระพุทธรูปนี้สร้างเพื่อเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา วันที่ 5 ธ.ค. 2542 และ 4 พระบรมรูปทรงม้าศึกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จากนั้นได้เข้าชมหออัตลักษณ์นครน่าน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของเมืองน่าน มีห้องนิทรรศการวิวัฒนาการการเมืองการปกครองเมืองน่าน พร้อมทั้งวิวัฒนาการของนครแห่งนี้ เช่นชาติพันธ์ุชาวเมืองและห้องเกลือสินเธาว์ที่เป็นสินค้ายุทธศาสตร์
ในการนี้ อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษมผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมืองน่าน เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของ จ.น่าน แม้ว่าจะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ในอดีตนั้นมีฐานะเป็นนคร โดยมีเจ้าปกครองถึง 62 องค์ เริ่มจาก เจ้าพญาภูคา ต้นราชวงศ์ภูคา ครองเมืองที่ชื่อว่าเมืองย่าง ปัจจุบัน (สันนิษฐาน) ว่าอยู่เขตอ.ท่าวังผา ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 จนถึง มหาอำมาตย์โท และนายพลตรีเจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าผู้ครองน่านองค์สุดท้าย) ที่ครองอยู่ 13 ปี ระหว่างปี 2461-2474
เมื่อได้รับความรู้ด้านประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน สมเจตน์ วิมลเกษม ไกด์กิตติมศักดิ์ พาไปชมวัดต่างๆ ตามที่ระบุในโปรแกรม จนกระทั่งค่ำ
วัดต่างๆ ในนครน่านคือ ที่ตั้งศิลปะบ่งบอกถึงวิถีนิยมและรสนิยมของชาวเมืองซึ่งมีหลายวัดด้วยกัน ผู้อ่านคงเคยได้ยินวัดภูมินทร์ ที่มีภาพเขียนกระซิบรักบันลือโลกมาแล้ว จึงจะเขียนถึงในโอกาสต่อไป แต่วันนี้จะบอกเล่าถึงวัดพญาภู ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่ในสายตาผู้เขียนจัดว่าสำคัญ เพราะเป็นสำนักเรียนที่เปิดสอนภาษาบาลี ที่หาพระภิกษุสามเณรเรียนได้ยาก แต่ที่นี่จัดได้จนเป็นสำนักใหญ่แห่งจ.น่าน ทั้งนี้ เพราะเจ้าอาวาสทรงความรู้สูงถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เป็นพระราชาคณะชั้นราช ท่านคือ พระราชศาสนาภิบาล (ดิเรก วชิรปฺญโญ ป.ธ.9)
หลังจากคณะไปเยี่ยม ท่านเขียนลงเฟซบุ๊กพร้อมภาพถ่ายว่า พระราชศาสนาภิบาล รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน วัดพญาภูพระอารามหลวง ถวายการต้อนรับพระธรรมวรนายกพร้อมคณะ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ในโอกาสที่เดินสายไหว้พระธาตุภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 19-24 พ.ค. 2561 และได้มาสักการะพระประธานในพระวิหารวัดพญาภู พระอารามหลวง ได้เห็นก็เป็นบุญตา ได้สนทนาก็เป็นบุญปาก ได้อุปถัมภ์อุปัฏฐากก็เป็นบุญใจ สาธุๆๆๆ อนุโมทามิ