ดาวเสาร์ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์
วันที่ 27 มิ.ย. 2561 ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ มีตำแหน่งเรียงกันเป็นแนวเส้นตรงในอวกาศ
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
วันที่ 27 มิ.ย. 2561 ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ มีตำแหน่งเรียงกันเป็นแนวเส้นตรงในอวกาศ ทำให้ดาวเสาร์ปรากฏอยู่ที่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลก ดาวเสาร์จึงสว่างที่สุดและใกล้โลกที่สุดในปี 2561
ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 6 เมื่อเรียงลำดับตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ จัดเป็นดาวเคราะห์วงนอกเนื่องจากอยู่ไกลกว่าวงโคจรของโลก ดาวเคราะห์วงนอกจะผ่านจุดที่อยู่ใกล้โลกที่สุดก็ต่อเมื่อดาวเคราะห์ดวงนั้นปรากฏอยู่บริเวณจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตจากโลก
ดาวเสาร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 29.5 ปี ดาวเสาร์จึงอยู่ในกลุ่มดาวจักรราศีหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปีครึ่ง บางกรณีอาจสั้นหรือยาวกว่านี้ได้เล็กน้อย เพราะกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มทางดาราศาสตร์สากลมีความกว้างไม่เท่ากัน ปีนี้ดาวเสาร์ผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ขณะอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ดาวเสาร์เข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนูมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 และจะยังคงอยู่ในกลุ่มดาวนี้ต่อไปถึง พ.ศ. 2563 หมายความว่าเมื่อดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2562 และ 2563 เราก็ยังคงเห็นดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู
ดาวเสาร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์ยักษ์แก๊ส เช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี โดยมีองค์ประกอบภายในส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจน อาจมีแก่นขนาดเล็กที่เป็นหิน ระยะห่างเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ของดาวเสาร์คิดเป็นประมาณ 9.5 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ เคยถือได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุดก่อนการค้นพบดาวยูเรนัสเมื่อเดือน มี.ค. ค.ศ. 1781 ดาวเสาร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลกประมาณ 9 เท่า หมุนรอบตัวเองครบรอบภายในเวลา 10 ชั่วโมงครึ่ง ยานอวกาศที่สำรวจดาวเสาร์เป็นเวลานานที่สุดคือยานแคสซีนีขององค์การนาซ่า โคจรรอบดาวเสาร์ 294 รอบในช่วง พ.ศ. 2547-2560
เอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวของดาวเสาร์ คือวงแหวนที่มีขนาดใหญ่และสว่าง สามารถสังเกตเห็นได้แม้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ของนักดาราศาสตร์สมัครเล่น กาลิเลโอสังเกตเห็นวงแหวนของดาวเสาร์มาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่เขาไม่สามารถอธิบายได้ว่าสิ่งที่เห็นขนาบข้างดาวเสาร์นั้นคืออะไร
ปัจจุบันระนาบวงแหวนของดาวเสาร์ทำมุมเอียงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับแนวเส้นตรงที่ลากจากดาวเสาร์มายังดวงอาทิตย์หรือโลก เราจึงเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้ชัดเจน แต่เมื่อดาวเสาร์เคลื่อนต่อไปบนวงโคจร ระนาบวงแหวนที่หันมาให้เราเห็นจะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้วงแหวนทำมุมแคบลง หากระนาบวงแหวนอยู่ในแนวสายตา ขอบวงแหวนจะหันเข้าหาเราจนผู้สังเกตบนโลกไม่สามารถมองเห็นวงแหวนได้ ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 15 ปี
ดาวเสาร์มีดาวบริวารจำนวนมาก ที่ยืนยันการค้นพบและทราบวงโคจรที่แน่นอนแล้ว 53 ดวง หากรวมดาวบริวารที่ยังไม่ยืนยันด้วยมีถึง 62 ดวง ไททันเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่ที่สุดด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5,150 กิโลเมตร ใหญ่กว่าดวงจันทร์ของโลก ซึ่งมีขนาด 3,476 กิโลเมตร กล่าวได้ว่าไททันเป็นดาวบริวารที่ได้รับความสนใจมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับบรรดาดาวบริวารของดาวเคราะห์ทั้งหมดในระบบสุริยะ สาเหตุเพราะไททันมีบรรยากาศปกคลุมหนาทึบ องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นไนโตรเจน มีเทนรองลงมาด้วยสัดส่วนเพียงเล็กน้อย คาดว่าการแตกตัวของมีเทนเมื่อโดนแสงอาทิตย์ทำให้บรรยากาศเป็นสีส้ม ความหนาทึบของบรรยากาศทำให้แสงอาทิตย์อ่อนลงมากเมื่อไปถึงพื้นผิว
ผู้สนใจสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้ด้วยตาเปล่าโดยเริ่มเห็นได้ในเวลาหัวค่ำ มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เวลาที่เริ่มสังเกตได้ดีคือประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง ถึง 2 ทุ่ม เป็นต้นไป โดยจะเห็นดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู มีดาวเรียงกันเป็นรูปคล้ายกาต้มน้ำ อยู่ทางซ้ายมือของกลุ่มดาวแมงป่อง ดาวเสาร์อยู่เหนือขึ้นไปเล็กน้อย หลังจากนั้นดาวเสาร์จะเคลื่อนสูงขึ้น อยู่สูงสุดบนท้องฟ้าด้านทิศใต้ในเวลาราวเที่ยงคืนครึ่ง และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น คืนวันที่ 27 ถึงเช้ามืดวันที่ 28 มิ.ย. 2561 ดวงจันทร์ใกล้วันเพ็ญมาอยู่ใกล้ดาวเสาร์พอดี แสงจันทร์สว่างในช่วงนี้จึงอาจทำให้ดาวเสาร์ดูหมองไปเล็กน้อย
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (24 มิ.ย.-1 ก.ค.)
ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์สว่าง 4 ดวง ที่ปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ดาวศุกร์ซึ่งสว่างที่สุดอยู่ในกลุ่มดาวปูบนท้องฟ้าทิศตะวันตก ปลายสัปดาห์ย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต สามารถสังเกตดาวศุกร์ได้จนกระทั่งใกล้ตกลับขอบฟ้าในเวลา 3 ทุ่มครึ่ง
ดาวพุธอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในทิศทางใกล้เคียงกับดาวศุกร์ แต่เยื้องไปทางขวามือเล็กน้อยเมื่อวัดตำแหน่งตามแนวดิ่ง มีเวลาสังเกตได้สั้นกว่าดาวศุกร์ โดยจะเห็นได้ในช่วงหลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้วไม่นาน อาจสังเกตได้จนถึงราว 2 ทุ่ม หลังจากนั้นจะอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก ดาวพุธอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ในช่วงแรก โดยอยู่ทางซ้ายมือของดาวพอลลักซ์ ใกล้กันที่สุดในค่ำวันที่ 24-25 มิ.ย. ที่ระยะห่าง 4.9 องศา หลังจากนั้นจะเข้าสู่กลุ่มดาวปู
ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ปรากฏอยู่สูงบนท้องฟ้าด้านทิศใต้ในเวลาหัวค่ำ จากนั้นเคลื่อนต่ำลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณตี 2 ครึ่ง ดาวเคราะห์ดวงถัดไปคือดาวเสาร์ อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู เวลาหัวค่ำอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย สัปดาห์นี้ดาวเสาร์ผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลก เป็นช่วงที่ดาวเสาร์สว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี สังเกตได้ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้ามืด
ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล ขึ้นทางทิศเดียวกันกับดาวเสาร์ โดยเริ่มสังเกตได้ดีตั้งแต่เวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ดาวอังคารมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนขณะนี้กลายเป็นดาวสว่างโดดเด่นดวงหนึ่งบนท้องฟ้าเวลากลางคืน สาเหตุเพราะระยะห่างระหว่างโลกกับดาวอังคารกำลังลดลงทุกวัน ทำให้ดาวอังคารมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ มีกำหนดจะใกล้โลกที่สุดในปลายเดือน ก.ค.
ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ คืนวันที่ 27 มิ.ย. จะเห็นดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวงอยู่ใกล้ดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ 28 มิ.ย. ที่ระยะห่าง 4 องศา หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ดวงจันทร์จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เช้ามืดวันที่ 1 ก.ค. ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ใกล้ดาวอังคารที่ระยะห่าง 5 องศา
สถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอส (ISS) โคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบ โดยมีลักษณะเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดหรือหัวค่ำ สัปดาห์นี้มีโอกาสเห็นได้หลายครั้งในเวลาเช้ามืด ที่น่าสนใจมีดังนี้
วันจันทร์ที่ 25 มิ.ย. 2561 กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเห็นสถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศใต้ในเวลา 04.59 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางซ้าย ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 05.02 น. ที่มุมเงย 30 องศา สิ้นสุดการมองเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก
เฉียงเหนือในเวลา 05.05 น.
วันพุธที่ 27 มิ.ย. 2561 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏขณะออกจากเงามืดของโลกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 04.52 น. ขณะอยู่ที่มุมเงย 28 องศา จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวา ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 04.54 น.ที่มุมเงย 60 องศา สิ้นสุดการมองเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 04.57 น.
วันพฤหัสบดีที่ 28 มิ.ย. 2561 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏขณะออกจากเงามืดของโลกทางทิศตะวันออกในเวลา 04.02 น. ขณะอยู่ที่มุมเงย 32 องศา จากนั้นเคลื่อนต่ำลงไปทางซ้าย สิ้นสุดการมองเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 04.05 น.