‘เทพา’เทพที่หายไป
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายมาก คือ การสูญสิ้นหมดไปของปลาเทพา
โดย ปริญญา ผดุงถิ่น
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายมาก คือ การสูญสิ้นหมดไปของปลาเทพา (Chao Phraya Giant Catfish) จากแม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา
ก็ชื่อภาษาอังกฤษของปลาเทพา แสดงความน่าภาคภูมิใจในความเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาซะขนาดนั้น
แต่พอถึงวันหนึ่งที่ปลาเทพาไม่อาจอยู่ได้ต่อไปในแม่น้ำเจ้าพระยา มันก็เหมือนประจานคนไทยกลายๆ ทำอีท่าไหนปลาชนิดนี้ถึงสาบสูญไป ทั้งที่แม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่ใช่เล็กๆ ยังล่องไหลเป็นเส้นเลือดใหญ่แห่งแผ่นดินภาคกลางของไทย
ที่ยังมีเผ่าพันธุ์ปลาเทพาหลงเหลืออยู่ก็เป็นแม่น้ำโขง แต่ประชากรก็น้อยลงมากแล้วจนปัจจุบัน ปลาเทพามีสถานภาพระดับโลก “ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต” หรือ Critically Endangered
ในบรรดาปลาตระกูล Shark Catfish ในบ้านเรา อันได้แก่ ปลาสวาย ปลาบึก ปลาเทพา ปลาเทโพ ปลาสายยู อะไรพวกนี้ ไม่มีปลาอะไรอีกแล้ว ที่มีรูปร่างงามสง่าเท่าปลาเทพา
มันเป็นปลาใหญ่ ซึ่งอาจหนักกว่า 100 กก. มาพร้อมก้านกระโดงก้านครีบที่ยาวเฟื้อยสวยงาม ส่วนแพนหางก็แข็งและกว้าง ในสไตล์ของปลาทะเลที่เป็น “ปลาเกม” ของโลกทั้งหลาย เห็นหางแบบนี้ก็บอกได้เลยว่าเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วและแรง
ในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น ปลาเทพาเป็นเจ้าของสปีดการว่ายน้ำที่เร็วจัดเหนือกว่าปลาน้ำจืดทุกตัว (เทียบกันเฉพาะปลาไทย เพราะปลานอกไม่มีข้อมูล) คนที่จะบอกเรื่องนี้ได้ดีก็คือ นักตกปลา
และพอดีผมก็เป็นหนึ่งในนักตกปลาที่เคยเย่อปลาเทพาไซส์ใหญ่มาแล้ว ยืนยันได้ถึงเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เป็นความจริง 100%
แม้จะหมดจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแทบสูญพันธุ์จากโลก อันเนื่องจากการล่าเกินขนาด และอาจรวมถึงมลพิษในแม่น้ำ แต่ความเก่งของกรมประมงในด้านการผสมเทียม ทำให้ทุกวันนี้ยังมีสายพันธุ์ปลาเทพาในที่เลี้ยงมากมาย ในฟิชชิ่งปาร์กเกรดเอ จะมีปลาเทพาให้เย่อ
ขณะที่วงการปลาตู้ ก็นิยมเลี้ยงปลาเทพาด้วย แต่จะเน้นไปที่ปลาเทพาตัวสั้น อันเป็นปลาพิการ ค่านิยมคือ ยิ่งสั้น ยิ่งสวย ยิ่งแพง (เป็นงั้นไป)
เมื่อติดเบ็ด ปลาเทพาจะพุ่งจี๋ด้วยฟิลลิ่งของปลาทะเล เหมือนรถแรงม้าเยอะ เปรียบเป็น “รถสปอร์ตแห่งท้องน้ำ” คนละแนวกับปลาบึกที่เหมือนเป็น “รถพ่วง 18 ล้อแห่งท้องน้ำ” เน้นที่แรงบิดฉุดลาก
ข้อมูลในเว็บไซต์บอกให้รู้ว่าปลาเทพามีหลายฉายา เช่น “ฉลามน้ำจืด” “เจ้าแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งก็เหมาะสมทั้งสิ้น
อาหารในธรรมชาติ ระหว่าง “พี่ใหญ่” ปลาบึก กับ “น้องสอง” ปลาเทพา ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปลาบึกเน้นกินแพลงก์ตอน ตะไคร่น้ำ แนวมังสวิรัติ แต่ปลาเทพาเป็นปลากินเนื้อ ทั้งล่ากินปลาและกินซากเน่า
มีคนสิงห์บุรีให้ข้อมูลมาว่า ตอนเด็กๆ ยังเกิดทันเห็นพรานเบ็ดแม่น้ำน้อย ล่าตกปลาเทพาด้วยหัวไก่สด
ภาพจำของปลาเทพาแต่โบราณ คือปลาที่กินซากหมาเน่าลอยแม่น้ำ จนมันมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Dog-eating Catfish
อ้อ ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาเทพา คือ Pangasius sanitwongsei ตั้งโดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก เพื่อเป็นเกียรติแด่ ม.ร.ว.สุวพันธุ์สนิทวงศ์ ผู้บุกเบิกให้มีหน่วยงานทางด้านการศึกษาและจัดการสัตว์น้ำ ซึ่งก็คือกรมประมงนั่นเอง
ในเมื่อกรมประมงเพาะพันธุ์ปลาเทพาได้สำเร็จแล้ว ผมเองโดยส่วนตัวอยากเห็นแคมเปญใหญ่จากกรมประมง แบบว่า “เทพาคืนถิ่น” ฟื้นฟูให้ปลาเทพาที่สูญสิ้นไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้กลับมาเป็น “เทพเจ้าพระยา” อีกหน
ถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นผลงานระดับ “เทพ” คู่ควรกับชื่อปลานั่นแล