posttoday

"ธรรมศาสตร์" มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนรูปแบบ Service Learning โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้จากโครงการจริง

17 กรกฎาคม 2561

การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งปลูกจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่นักศึกษาทุกระดับชั้นปี ใช้การเรียนการสอนโดยการบริการสังคม (Service Learning)

การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งปลูกจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่นักศึกษาทุกระดับชั้นปี ใช้การเรียนการสอนโดยการบริการสังคม (Service Learning) คือ การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ มีการผสมผสานกรอบการเรียนรู้ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การศึกษาด้านวิชาการ 2. การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 3. การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมกับสังคม และใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นฐานในการเรียนรู้ (Problem Based Learning) ซึ่งมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered) มีอาจารย์เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้และให้คำปรึกษาแนะนำ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ในทุกๆ ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะจัดประกวดโครงงานการเรียนการสอนโดยการบริการสังคม (Service Learning) นักศึกษาจะได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาไปบริการประชาชนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคณะภายในมหาวิทยาลัยส่งผลงานเข้าร่วมประกวด โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะเป็นผลงานที่อยู่ในรายวิชาของคณะ และล่าสุดรางวัลชนะเลิศ การประกวดโครงงานฯ ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง จากผลงานโครงงานการออกแบบอาคารศูนย์ฝึกอบรมและฟื้นฟูแรงงานไทยและข้ามชาติ ของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

\"ธรรมศาสตร์\" มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนรูปแบบ Service Learning โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้จากโครงการจริง

"โครงงานออกแบบอาคารศูนย์ฝึกอบรมและฟื้นฟูแรงงานไทยและข้ามชาติ" ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง อยู่ในรายวิชา Advanced Architectural Design (การออกแบบสถาปัตยกรรมขั้นสูง-หัวข้อ: การออกแบบรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม) เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างคณะฯ กับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation – LPN) ซึ่งนักศึกษาจะได้นำความรู้และทักษะการออกแบบสถาปัตยกรรมไปบริการชุมชนภายนอก โดยโครงงานออกแบบอาคารศูนย์ฝึกอบรมและฟื้นฟูฯ นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะเป็นการส่งประโยชน์ไปถึงชุมชนแรงงานย่านปทุมธานี และเป็นการสร้างสาธารณประโยชน์แก่บริบทโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้ดีขึ้น

การออกแบบอาคารศูนย์ฝึกอบรมและฟื้นฟูฯ จะสะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่น และความเป็นชุมชนแรงงานของปทุมธานี สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ เช่น การออกแบบอาคารให้ยกใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม การออกแบบหลังคาให้ยื่นยาวเป็นพิเศษเพื่อป้องกันฝน และผนังปิดล้อมอาคารที่ทำจากลังพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุรีไซเคิล (เป็นวัสดุที่พบเห็นได้ทั่วไปในตลาดไท ตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรในย่านปทุมธานีที่มีทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวจำนวนมาก) ซึ่งการเลือกวัสดุลังพลาสติกนี้ยังสามารถต่อยอดให้เกิดแผนรณรงค์บริจาควัสดุนี้จากผู้ประกอบการในตลาดไท (ผู้ซึ่งเป็นนายจ้างของแรงงาน) ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างศูนย์ฝึกอบรมและฟื้นฟูแรงงานแห่งนี้

ซึ่งโครงงานออกแบบอาคารศูนย์ฝึกอบรมและฟื้นฟูฯ ทางมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้ขอนำแบบร่างดังกล่าวพร้อม Model ไปนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 5 มี.ค. 61 ด้วย

ทั้งนี้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ จากโครงงาน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ep.2 : กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับรางวัลร่วมกัน 3 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ จากโครงงาน “สาดสีสร้างศิลป์ ตลาดน้อย PAR สัมพันธ์” คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากโครงงาน “ยาเบื่อหนอน เบื่อคนด้วยไหม” และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร จากโครงงาน “4 IN 1 โครงการนำร่องแก้ปัญหาที่จอดรถและการจราจร รายในชุมชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต”

\"ธรรมศาสตร์\" มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนรูปแบบ Service Learning โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้จากโครงการจริง

\"ธรรมศาสตร์\" มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนรูปแบบ Service Learning โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้จากโครงการจริง